วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

FTA ไทย-สหรัฯมีแต่เสียกับเสีย

FTA ไทย-สหรัฐฯ : มีแต่เสียกับเสีย
กมล กมลตระกูล
เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2550 นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ร่วมกันจัดสัมมนาในหัวข้อ “ข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-สหรัฐฯ ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน” ที่โรงแรม อมารีวอเตอร์เกท กรุงเทพฯ
นักวิชาการ เช่น ดร. จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ดร.สุริชัย หวันแก้ว นาย จอน อึ๊งภากรณ์ นาย บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และ ดร.ลาวัณย์ ถนัดศิลปกุล ที่มานำเสนอหัวข้อผลกระทบในด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งจะมีผลผูกมัดประเทศ ผูกมัดประชาชนไปอีกชั่วนาตาปี และนำประเทศไปสู่การเป็นเมืองขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ โดยที่อธิปไตยและความเป็นเอกราชของชาติมีเหลืออยู่เพียงแค่เปลือกหรือชื่อเท่านั้น
เอฟทีเอ หรือ ข้อตกลงเขตการค้าเสรีนั้นก็คือ การที่สองประเทศหรือมากกว่านั้น หรือทั้งภูมิภาคตกลงจัดตั้ง “เขตการค้า ” เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยการลดภาษีหรือมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในวิสาหกิจต่างๆ มากขึ้น ลดบทบาทภาครัฐในการดำเนินกิจการต่างๆ ลง แล้วเปิดกว้างให้ภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาแทนที่ พร้อมทั้งปรับปรุง ยกเลิกกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ที่เห็นว่าเป็นอุปสรรค ขัดขวางการค้า การลงทุนของต่างชาติให้ลดลง หรือขจัดให้หมดไป
เอฟทีเอที่ลงนามกันระหว่างประเทศที่มีอำนาจต่อรองใกล้เคียงกันและมีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกันและตอบแทนกันก็เป็นเรื่องที่ดี
เอฟทีเอในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างอำนาจต่อรองร่วมกันกับประเทศมหาอำนาจก็เป็นเรื่องที่ดีและควรจะทำ

สนธิสัญญาบาวริ่งยุคใหม่
ในกรณีการทำข้อตกลง FTA ไทย-สหรัฐฯ สหรัฐฯได้ตั้งเงื่อนไขแกมบังคับว่าต้องเจรจาครบทั้ง 23 หัวข้อ ไทยจะเลือกหรือขอยกเว้นไม่เจรจาบางหัวข้อที่เราไม่พร้อมไม่ได้ เช่น หัวข้อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่สหรัฐฯเรียกร้อดง และการเปิดเสรีภาคบริการ การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ การคุ้มครองการลงทุน
การที่สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญและกระตือรือร้นมากในการทำเอฟทีเอเช่นนี้ ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ แห่งสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้อธิบายว่า
“เพราะสหรัฐอเมริกานั้นตระหนักดีว่าการเจรจาในเวทีองค์การการค้าโลกไม่มีความแน่นอน หลายประเด็นในการเจรจาได้แบ่งแยกประเทศสมาชิกออกเป็นฝักฝ่าย ยากที่จะหาทางประนีประนอมให้ได้ผลยุติ อีกทั้งประเด็นการเจรจาส่วนใหญ่ก็มิได้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในทางตรงกันข้าม หากมีการเจรจาสำเร็จในหลายประเด็นกลับจะทำให้สหรัฐฯ เสียประโยชน์มากกว่า เช่น เรื่องการลดการอุดหนุนและเลิกทุ่มตลาดสินค้าเกษตรฯ เรื่องมาตรการบังคับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นต้น”
ดังนั้น การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งในแบบทวิภาคีคือ ตัวต่อตัวหรือในแบบทั้งภูมิภาค จึงเป็นหนทางเดียวที่สหรัฐฯ จะสามารถใช้อิทธิพลผลักดันกติการะหว่างประเทศที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของตัวเองได้ และยังได้ผลพวงที่สำคัญตามมาด้วยคือ เป็นการสลายพลังของพันธมิตรกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ก็เพราะแต่ละประเทศต้องหันมาสนใจกับการเจรจาต่อรองตัวต่อตัวกับสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ”

มีลับลมคมนัย
ในการเจรจากับไทยสหรัฐฯยังตั้งเงื่อนไขไม่ให้เปิดเผยเอกสารข้อเรียกร้องของฝ่ายสหรัฐฯต่อสาธารณชน และให้กำหนดเรื่องการรักษาความลับในการเจรจาตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความลับของแต่ละฝ่าย ซึ่งคณะเจรจาฯของไทยได้พิจารณากำหนดเป็นชั้นลับตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณฯจึงไม่สามารถเปิดเผยเอกสารข้อเรียกร้องของฝ่ายสหรัฐฯได้

ข้ามหัวรัฐสภา
ในขณะเดียวกันข้อตกลงในการเจรจานี้จะต้องผ่านการลงมติเห็นชอบโดยรัฐสภาอเมริกันก่อนจึงจะมีผลบังคับใช้ แต่ของไทยกลับเป็นตรงกันข้าม คือ เมื่อลงนามแล้วมีผลบังคับเลยทั้งๆที่ข้อตกลงหลายๆหัวข้อไทยต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้อง หรือมีผลในการ “เปลี่ยนแปลงเขตอำนาจรัฐ” ซึ่งขัดกับมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญ 2540

ลดอำนาจศาลไทย
สหรัฐฯเรียกร้องให้ใช้วีธีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาท ระหว่างรัฐกับรัฐ และ รัฐกับเอกชน คือเอกชนสหรัฐฯสามารถฟ้องรัฐไทยได้ในศาลไทย หรือถ้าไม่พอใจก็สามารถเสนอให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินแทน (ไทยเสียเขาพระวิหารไปก็เพราะไปยอมขึ้นศาลโลกซึ่งมีความลำเอียง)
ไม่เพียงแค่นั้นสหรัฐฯต้องการให้ใช้ระบบนี้ในกรณีก่อนการเข้ามาลงทุนหรือเพียงแค่แสดงเจตนาว่าจะเข้ามาลงทุนแล้วหากอ้างว่าเกิดความเสียหาย หรือไม่ได้รับความสะดวกก็อาจจะฟ้องอนุญาโตตุลาการเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทยได้

แย่งอาชีพคนไทยข้างเดียว
สหรัฐฯเรียกร้องให้ไทยเปิดเสรีบัญชี 1 ใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 แต่สหรัฐฯกลับไม่เปิดเสรีให้แรงงานไทยไปทำงานในอเมริกา จึงเป็นการเรียกร้องที่เอาแต่ได้ และเป็นฝ่ายได้ข้างเดียว
เพียงแค่ประเด็นเหล่านี้ ถ้ารัฐบาลไทยยอมลงนามก็เท่ากับการลงนามยอมรับการเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐฯโดยปริยาย
อันที่จริงประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลก ซึ่งต้องดำเนินนโยบายการค้าเสรีตามกรอบกติกาขององค์การค้าโลกอยู่แล้ว การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศมหาอำนาจซึ่งมีอำนาจต่อรองสูงกว่านั้น มีแต่ประเทศไทยจะเสียเปรียบ สิ่งที่ได้มา เช่น เรื่อง ร้านอาหารไทย เรื่องนวดแผนโบราณ เรื่องสปา กับสิ่งที่จะต้องแลกนั้นไม่คุ้มค่าอย่างยิ่ง เสมือนกับการเอาทองคำไปแลกเกลือ เช่นประเด็นข้างต้นในเรื่องการเปิดตลาดผลไม้ซึ่งมีมูลค่าจิ๊บจ้อย เพื่อแลกกับการสูญเสียอำนาจตุลาการ และ การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐในเรื่องการคุ้มครองการลงทุน
ประเด็นการคุ้มครองการลงทุน
ในเรื่องการคุ้มครองการลงทุน ประเทศไทยควรจะศึกษาบทเรียนข้อตกลงนาฟต้า หรือข้อตกลงเขตการค้าเสรีของทวีปอเมริกาเหนือ ระหว่างสหรัฐฯ เม๊กซิโก และแคนาดา ซึ่งตีความการคุ้มครองการลงทุน หมายถึงการห้ามการยึดหรือริบกิจการโดยรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม และทั้งสองประเทศนี้ถูกบริษัทอเมริกันฟ้องเรียกค่าเสียหายไปจำนวนมากแล้ว
การยึดหรือริบกิจการโดยรัฐทางตรงนั้นสูญพันธุ์ไปจากโลกนานแล้ว ประเด็นที่เหลืออยู่ คือ การริบหรือยึดกิจการโดยรัฐทางอ้อม ( Indirect expropriation) ในสัญญานาฟต้า ได้เปิดช่องให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง เป็นการลิดรอนจำกัดอำนาจของรัฐไม่ให้ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของสาธารณะ เช่น การห้ามการลงทุนในพื้นที่อนุรักษ์ เขตป่าสงวน หรือ อุทธยานแห่งชาติ หรือในเขตที่ชุมชนคัดค้าน ก็อาจจะเข้าข่ายการริบหรือยึดกิจการโดยรัฐทางอ้อม
การปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของสาธารณะสามารถถูกตีความได้ว่าเป็นการการริบหรือยึดกิจการโดยรัฐทางอ้อม ซึ่งเอกชนสามารถฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องความเสียหายได้อย่างไม่จำกัดจากรัฐได้ เช่น การประเมินความสูญเสียรายได้ในอนาคตข้างหน้า ๕๐-๑๐๐ ปี แล้วคิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่รัฐต้องชดใช้ ประเทศไทยอาจจะถูกฟ้องล้มละลายเอาได้ง่ายๆ อย่าได้ประมาทเชียว
นอกจากนี้ ในมาตรา 5.4 ของเอฟทีเอในด้านการลงทุนยังกำหนดว่า
“ไทยต้องรับผิดชอบในความสูญหาย เสียหายใดๆ แม้ว่าจะเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย เช่น สงครามกลางเมือง การจราจล รัฐบาลไทยก็ต้องรับผิดชอบโดยไม่มีข้อยกเว้น”
นอกจากนี้แม้กระทั่ง ความตั้งใจ หรือ การมีแผนจะเข้ามาลงทุน( Pre- establishment) ก็ตีความว่า เป็นการลงทุนแล้ว ถ้าหากว่าถูกกีดกันก็สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐได้ เช่นเดียวกัน
ในเรื่องการเวนคืนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ มาตรา 6.2b ของการเจรจาก็ระบุว่า “การชดเชยต้องกระทำการโดยทันที ไม่ล่าช้าและก่อนการเวนคืนในวันนั้น ในราคาตลาดตามมูลค่าของทรัพย์ที่ถูกเวนคืนนั้น โดยห้ามเปลี่ยนแปลงมูลค่าใดๆ และการชดเชยต้องสามารถนำเงินส่งออกนอกประเทศได้โดยเสรี และต้องชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสม
ด้านทรัพย์สินทางปัญญา
ในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง นางบาร์บารา ไวเซล ผู้แทนเจรจาของสหรัฐฯ ยืนยันอย่างเด็ดขาดว่า ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจะเอาออกจากการเจรจาไม่ได้นั้น ถ้าหากว่าประเทศไทยยอมรับ ไม่ยอมเอาประเด็นนี้ ออกจากการเจรจา ผลเสียหายที่จะตามมาต่อผลประโยชน์ของประเทศ ต่อ เกษตรกร และผู้ป่วยจะมีอย่างมหาศาลและต้องกลายเป็นลูกไล่ตลอดกาล โดยที่สหรัฐฯ เรียกร้องดังนี้
๑. ให้ขยายการคุ้มครองลิขสิทธิ์จากปัจจุบัน ๕๐ ปี หลังจากเจ้าของผลงานเสียชีวิต เป็น ๗๐ ปี
๒. ให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์
๓. ให้ประเทศคู่เจรจาเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ( UPOV 1991)
๔. การคุ้มครองเครื่องหมายการค้าให้รวมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น กลิ่น สี เสียง
๕. ให้เข้าร่วมในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางสิทธิบัตร ( Patent Co-operation Treaty-PCT) ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานสิทธิบัตรของประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้รับคำขอจดสิทธิบัตร ตรวจสอบ และอนุมัติ โดยมีผลบังคับในประเทศที่กำลังพัฒนาได้เลย ไม่ต้องมาขอจดใหม่อีกครั้งหนึ่ง
รายละเอียดของข้อตกลงนี้ยังมีอีกมากมาย แต่เฉพาะ ๕ ข้อนี้ ประเทศกำลังพัฒนาก็ต้องเป็นลูกไล่จ่ายค่าหัวคิวไปแทบจะตลอดชาติแล้ว เพราะว่าร้อยละ ๙๗ ของเจ้าของสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และลิขสิทธิ์ ล้วนคือประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีข้อมัดมือชกในมาตรา 5 กำหนดให้ไทยต้องรับผิดชอบทุกประการ หากไม่คุ้มครอง หรือคุ้มครองบกพร่อง หรือไม่มีประสิทธิภาพในการใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และอาจจะต้องชดเชยเช่นเดียวกับเรื่องการเวนคืน หรือ การยึดทรัพย์
ต่อไปรถแท๊กซี่ที่นำมาบริการหากินหารายได้ก็ต้องจ่ายค่า “ลิขสิทธิ์” การออกแบบรถ และค่าสิทธิบัตรของเครื่องยนต์ เช่นเดียวกับเรื่องซีดีเพลงและซอฟแวร์ที่นำไปเปิดในร้านคาราโอเกะแล้วถูกไล่จับ โดยอ้างว่าห้ามนำสินค้าไปทำให้เกิดรายได้
ต่อไปเอาเสื้อแบรนด์เนมให้น้องขอยืมใส่ ก็ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ เหมือนกับการก๊อปปี้ซอฟแวร์ใส่อีกเครื่องหนึ่งในบ้าน
ปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มิใช่อยู่ที่ จ่าย หรือไม่จ่าย คุ้มครองหริอไม่คุ้มครอง แต่ประเด็นที่แท้ คือ “ ความยุติธรรม และเงื่อนไขที่เหมาะสมเป็นธรรม ไม่ผูกขาดค้ากำไรเกินควร”
ประเด็นการคุ้มครองลิขสิทธิ์ จาก ๕๐ ปีหลังเจ้าของผลงานเสียชีวิต ก็ถือว่านานเกินไปแล้ว แต่ยังขยายเป็น ๗๐ ปี อีก ซึ่งเป็นการผูกขาดความรู้ กีดกันการถ่ายเทวิทยาการ และวัฒนธรรม ทำให้เกิดการผูกขาดการค้าและการค้ากำไรเกินควร ทำให้เกิดช่องว่างและความแตกต่างในโลก ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจ และสงครามในที่สุด
สหรัฐฯไม่ได้เปิดตลาดแรงงานแก่ไทย แต่คนอเมริกันเข้าไทยได้อย่างเสรี โดยเฉพาะเมื่อเข้ามาลงทุน การลงนาม FTA กับสหรัฐฯจึงเป็นการได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว
ในด้านการใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ทำให้ไทยเสียเปรียบ เพราะสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ เช่น ปลาทูน่า กระป๋อง ปลาหมึกกระป๋อง สิ่งทอ ล้วนใช้วัตถุดิบนำเข้า จึงไม่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงFTA นี้
สหรัฐฯยังมีมาตรการอื่นๆในการปกป้องการค้าของตน เช่น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี(Non-tariff Barrier-NBTs) มาตรการบังคับข้างเดียว( Unilateral Measures) มาตรการสุขอนามัย (SPS) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping Measures)
ประเด็นเรื่องการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะในกรณีมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งในรายงานการศึกษาของที่สัมมนา ได้ระบุถึงปัญหาของการที่สินค้าส่งออก ผัก ผลไม้ และอาหารทะเลของไทย ถูกสหรัฐฯกักถึง 1,340 ครั้งในปี 2001 ทำให้เกิดปัญหาความยากจนในภาคเกษตรอย่างรุนแรง จากการใช้มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS )


เรื่องสิทธิบัตรยา
สหรัฐฯเรียกร้องให้ไทยให้สิทธิบัตรวิธีการวินิจฉัยโรค การรักษาผู้ป่วย และการผ่าตัด ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่เคยมีประเทศไหนยอมให้มีการจดสิทธิบัตรนี้ แต่สหรัฐฯเห็นว่าประเทศไทยเป็น “ลูกไล่” และข้าราชการไทยขาดจิตสำนึกรักชาติจึงได้บีบมา หากว่าไทยยอม นอกจากค่ายาจะแพงแล้วคนป่วยยังต้องมาจ่ายค่าวิธีการวินิจฉัยโรค ค่าเทคนิกการผ่าตัดอีก
สหรัฐฯเรียกร้อง ไม่ให้มีการคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรก่อนการออกสิทธิบัตร นั่นคือ การไม่ยอมให้มีการตรวจสอบจากสาธารณะก่อนการออกสิทธิบัตร หากจดไม่ได้หรือมีการเพิกถอนทีหลัง ก็ได้ผูกขาดไปแล้วหลายปี และคนป่วยก็ต้องจ่ายค่ายาแพงไปล่วงหน้า
จำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิผลิตยาเองในกรณีฉุกเฉิน
ผูกขาดข้อมูลยาใหม่อีก 5 ปี
ในเรื่องสิทธิบัตรยาก็ต้องการให้ขยายเวลาการคุ้มครองออกไปอีก ๕ ปี จาก ๒๐ ปีในกรณีที่การขอจดได้รับอนุมัติช้า นอกจากนี้ยังไม่มีบทลงโทษการนำสูตรยาเก่ามาผสมแล้วจดเป็นยาใหม่ โดยไม่ได้วิจัยค้นคว้าขึ้นใหม่ ก็จะได้รับการคุ้มครองต่ออีก ๒๐ ปี ทำให้เกิดการผูกขาดยา และราคายาแพงไปตลอด และทำให้ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถพึ่งตนเองได้
สหรัฐฯเรียกร้องให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการขึ้นทะเบียนตำรับยาที่มีการละเมิดสิทธิบัตร และต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบถึงการขึ้นทะเบียนตำรับยานั้น
ผลของข้อเรียกร้องนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อ.ย.) ต้องกลายมาทำหน้าที่เป็นตำรวจเฝ้ารักษาผลประโยชน์ของบริษัทยาของสหรัฐฯโดยใช้เงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชนไทย เช่นเดียวกับบทบาทของกรมทรัพย์สินทางปัญญา(บางคนเปลี่ยนชื่อเป็นกรมขายชาติ) และตำรวจ
หากอ.ย.ละเลยหรือปล่อยให้มีการหลงหูหลงตาปล่อยให้มีการจดทะเบียนซ้ำ ก็อาจจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้
หากไทยลงนามในข้อตกลงนี้ รองศาสตราจารย์ จิราพร ลิ้มปานานนท์ ระบุว่า ประเทศไทยต้องจ่ายค่ายาเพิ่มขึ้นปีละ 2 หมื่นล้านบาท(ครึ่งหนึ่งของรายได้การส่งออกข้าวในแต่ละปี) หรือ 4 แสนล้านบาทตลอดระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า
รองศาสตราจารย์ จิราพร ลิ้มปานานนท์ ระบุอีกว่า ร้อยละ 72.22 ของการจดสิทธิบัตรยาใหม่ เป็นการเอาสูตรตำรับยาเก่าที่หมดอายุสิทธิบัตรแล้วมาผสมใหม่ เช่น การทำให้ยาแรงขึ้น หรือ กินปริมาณน้อยลง มิใช่นวัตรกรรมใหม่ ดังนั้นจึงเป็นการขยายเวลาการผูกขาดขายยาราคาแพง และกีดกันมิให้มีการผลิตยาที่หมดสิทธิบัตรในราคาถูกออกมาช่วยชีวิตคน อันเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วยและสิทธิมนุษยชน

สิทธิบัตรพันธุ์พืช
สหรัฐฯเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ทั้งพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ โดย ไม่ต้องมีการระบุถึงแหล่งที่มาของพันธุ์พืช และจุลินทรีย์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในป่าเขตร้อนในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศเจ้าของแหล่งที่มาควรจะต้องได้รับส่วนแบ่งจากค่าสิทธิบัตรอย่างเท่าเทียมกับผู้จดสิทธิบัตรนั้นด้วยเสมอไป มิฉะนั้นก็จะเกิดการปล้น หรือ ขโมยพันธุกรรม หรือ พันธุ์พืช เช่น กรณีข้าวหอมมะลิ เปล้าน้อย กวาวเครือ และจุลินทรีย์ อีกหลายพันชนิดที่ถูกขโมยไปแล้ว
เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วมีอากาศหนาว จึงขาดแคลนความหลากหลายทางพันธุ์พืช จึงต้องการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองจากประเทศอื่นมาพัฒนาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน จึงเขียนอนุสัญญาพันธุ์พืชใหม่ ( Union for the Protection of New Varieties of Plants-UPOV 1991) ขึ้นมาและบีบบังคับให้ประเทศอื่นๆลงนามรับรอง หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ( UPOV 1991) ก็จะต้องแก้ไขกฏหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทย และของชุมชน เพราะว่า UPOV 1991 คุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ที่พัฒนาขึ้นมา แต่ไม่คุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมือง
ถ้าตีความกันแบบชาวบ้านก็คือ การอนุญาตให้ปล้นหรือขโมยพันธุ์พื้นเมืองได้อย่างชอบธรรม
อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ UPOV 1991 คืออนุญาตให้ “ปล้น” ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย
หากประเทศไทยเดินหน้าก็ต้องแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกำกับดูแล การเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพที่เรามีอยู่อย่างไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ปรับปรุงพันธุ์ หรือค้นพบพันธุ์ เนื่องจากร่างข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไม่มีข้อกำหนดพิจารณาถึงแหล่งที่มาของพันธุกรรมที่ใช้เป็นฐานในการปรับปรุงประดิษฐ์
ไม่มีเงื่อนไขในเรื่องการแบ่งปันกันใช้ประโยชน์หรือผลประโยชน์ระหว่างผู้ประดิษฐ์กับเกษตรกร ชุมชน หรือประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิด
นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามไม่ให้เกษตรกรเก็บพันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครองไว้ใช้ในฤดูเพาะปลูกต่อไป รวมทั้งห้ามการแลกเปลี่ยนเพื่อการคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์อันเป็นจารีตของท้องถิ่น

การคุ้มครองเครื่องหมายการค้า
ประเด็นการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าให้รวมถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น กลิ่น สี เสียง ซึ่งต่อไปการหายใจเอาอ๊อกซิเจนก็ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรเพราะว่าฝรั่งเป็นผู้ค้นพบสูตร เอช ๒ โอ ทุกวันนี้ซีดีเพลงต่างๆที่นำไปเปิดทางวิทยุ หรือ ตามตู้คาราโอเกะก็ต้องจ่ายเงิน ทั้งๆที่ค่าลิขสิทธิ์ก็ได้บวกอยู่ในแผ่นแล้ว เรื่องซอฟท์แวร์ ก็เช่นเดียวกัน
กล่าวโดยสรุป การลงทุนของต่างประเทศ สิ่งที่ประเทศไทยได้คือแรงงาน “ขันน๊อต” แรงงาน “ เชื่อมตะกั่ว” แรงงาน “เชือดและห่อไก่” และ แรงงาน “หนูถีบจักร” ที่รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในแต่ละเดือน ทำงานจบเดือนก็ยังต้องกู้เงินมาเพื่อเสริมค่าใช้จ่ายที่ค่าแรงไม่พอใช้
การเปิดเสรีการลงทุนอย่างล่อนจ้อนห้ามไม่ให้มีเงื่อนไขควบคุมจะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าชายเลนถูกทำลาย พื้นที่เพาะปลูกถูกอุตสาหกรรมต่างชาติแย่งชิงไป เหลือลดน้อยลง และกระทบถึงความอุดมสมบูรณ์ของ อาหาร สัตว์น้ำและอาชีพประมง
การเปิดเสรีการลงทุนอย่างล่อนจ้อนห้ามมีเงื่อนไขควบคุมจะทำให้สูญเสียพื้นที่ทางเกษตรต่อการเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ เหมือนกับประเทศเมกซิโก
การเปิดเสรีการลงทุนอย่างล่อนจ้อนจ้อนห้ามมีเงื่อนไขในกรณีการทำเหมือง นั้นต้องเจาะทำลายภูเขาเป็นลูกๆ เพียงเพื่อสะกัดเอาแร่จำนวนเล็กน้อย ในกรณีของเหมืองทองคำที่จังหวัดนราธิวาส ต้องใช้ไซยาไนท์อันเป็นสารพิษสะกัด และไหลลงแม่น้ำลำคลองเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ โดยที่รัฐได้ค่าภาคหลวงเพียงร้อยละ 2 ของมูลค่าเท่านั้น
การปล่อยให้มีการตั้งโรงงานกำจัดขยะสินค้าอิเลกโทรนิกส์ก็จะทำให้พื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ถูกแปรเป็นผืนดินที่อุดมด้วยสารพิษไว้ให้ลูกหลานรับกรรมต่อ
ประเด็นต่างๆที่ไม่เป็นธรรมข้างต้น ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ หรือได้ไม่คุ้มเสีย แต่อาจจะมีกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มจำนวนไม่กี่รายที่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหรัฐฯที่กำลังเจรจากันอยู่ ความหวังที่จะให้คนไทยไปเปิดร้านอาหาร เปิดสปา เปิดนวดแผนไทย นั้นผลประโยชน์จิ๊บจ้อยมาก และไม่มีข้อห้ามอยู่แล้ว แต่ในภาพรวมของผลประโยชน์ของชาติของแผ่นดิน ของประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ได้ไม่คุ้มเสีย และไม่มีความจำเป็นต้องเจรจาต่อในขณะนี้
รัฐบาลควรจะยกเลิกการเจรจา หรือ ยืดกรอบเวลาออกไปก่อนสัก 10 ปีรอให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่านี้ ในขณะนี้ เราเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก และเปิดเสรีมากพอแล้ว ถ้าเปิดมากไปกว่านี้ ประเทศก็จะไม่มีอะไรเหลือ คนทั้งชาติต้องทำงานมาจ่าย “ส่วย” ที่ถูกต้องตามกฏกติกาของการค้าเสรีในรูปของ ค่า ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แฟรนไชส์
ภาคประชาสังคมก็ต้องร่วมกันคัดค้านและกดดันไม่ให้มีการเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐฯต่อไป รวมทั้งเรียกร้องให้เปิดเผยรายละเอียดทุกข้อ และให้มีการลงประชามติ ก่อนจะลงนามเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของประเทศ เพราะว่าประเทศไทยเป็นประเทศเอกราช มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เมืองขึ้นของสหรัฐฯอเมริกา

ไม่มีความคิดเห็น: