วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ฉันทามติวอชิงตัน

ตามรอย....ลาตินอเมริกา
กมล กมลตระกูล
ในทศวรรษที่แล้ว ภาวะเศรษฐกิจของประเทศลาตินอเมริกาเกือบทุกประเทศอยู่ในภาวะตกสะเก็ดเหมือนกับ เมืองไทยในขณะนี้ ในบางประเทศแย่เสียยิ่งกว่าเสียอีก โดยมีภาวะเงินเฟ้อตั้งแต่ปีละ 200-1000 เปอร์เซนต์ เช่น ประเทศ บราซิล เมกซิโก และอาเยนตินา
ในทศวรรษนั้น วอชิงตันมีความเป็นห่วงมาก เพราะขบวนการฝ่ายซ้าย และระบอบเผด็จการทางทหารขวาจัดยังมีความเข้มแข็งอยู่ในบางประเทศ และเกรงว่า ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และ จะลุกลามไปเหมือนเกมส์โดมิโน ที่ประเทศหนึ่งล้ม ประเทศอื่นๆก็จะล้มตามกันไปเป็นแถว
ด้วยเหตุนี้ วอชิงตัน จึงได้สั่งให้ นักเศรษฐศาสตร์ ชื่อ จอห์น วิลเลียมเซิ่น เขียนใบสั่งยาขึ้นมา เพื่อเยี่ยวยาอาการป่วยทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาเหล่านี้
ใบสั่งยาของนาย วิลเลียมเซิ่น มีด้วยกัน 10 ขนาน ดังนี้ โดยมีชื่อว่า Washington Consensus
1. การจัดงบประมาณประจำปีของรัฐไม่ให้เกินดุลย์ เพื่อว่ารัฐบาลจะได้ไม่ต้องพิมพ์เงินออกมามากขึ้น อันเป็นสาเหตุหนึ่งของเงินเฟ้อ
2. การจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณแผ่นดิน โดยไม่ขึ้นต่อแรงบีบคั้นของกลุ่มอำนาจทางการเมือง เช่นกองทัพ หรือ กลุ่มผลประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ต้องการดึงงบเข้าหาตนให้มากที่สุด หรือ กลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกลุ่มใหญ่ๆ
3. การปฏิรูปการเก็บภาษีอากร เช่นภาษีที่ดิน เพื่อการเก็งกำไร และ ภาษีมรดก เพื่อป้องกันการคอรัปชั่น แต่ให้ลดภาษีสินค้าการเกษตร สินค้าอุปโภคและบริโภคให้ต่ำลง
4. ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นลงลอยตัว ขึ้นกับกลไกของตลาด และปล่อยให้การเคลื่อนย้ายทุนขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า และการแข่งขันการเสนอบริการอย่างเสรี
5. ปล่อยให้อัตราการแลกเปลี่ยนเงิน ลอยตัวขึ้นกับกลไกของตลาด ไม่กำหนดตายตัวเป็น หลาย อัตรา
6. ยกเลิกระบบโควต้า และการกำหนด จำกัดยอดจำนวนสินค้าเข้าออก โดยใช้อัตราภาษีอากร เป็นเครื่องมือ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพราะเป็นการทำให้อุตสาหกรรมในประเทศเลี้ยงไม่โต ขาดประสิทธิภาพ ขาดมาตรฐาน ไม่เป็นผลดีต่อผู้บริโภค ความจำเป็นที่ต้องแข่งขันกับอุตสาหกรรม หรือ การบริการจากต่างประเทศ จะทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพ การบริการ และ วิธีการผลิตเพื่อความอยู่รอด
7. ยกเลิกการกีดกันการลงทุนจากต่างประเทศ ทุกประการ ให้สิทธิบริษัทต่างชาติเท่าๆกับบริษัทในประเทศ
8. โอนกิจการของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะรัฐวิสาหกิจ ในลาตินอเมริกานั้นมียอดรายรับคิดเป็นเงินถึง ร้อยละ 10 ของผลผลิตรวมภายในชาติ ( GDP)
9. ยกเลิกกฏหมายที่ ปฏิปักษ์กับการลงทุนจากต่างชาติทุกข้อ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ และการแข่งขันอย่างเสรี
10. ปฏิรูปกฏหมายว่าด้วยการถือครองที่ดิน เพื่อเป็นหลักประกันว่า ประชาชนพื้นฐานจะมีโอกาสเป็นเจ้าของที่ดินได้โดยไม่แพ้กลุ่มเจ้าของทุนขนาดใหญ่
ใบสั่งยาข้างต้นจำนวน 10 ขนานนี้ ได้มีการเลือกนำไปใช้ในหลายประเทศ ทั่วทั้งลาตินอเมริกา แต่ละประเทศก็เลือกยาแต่ละขนานที่คิดว่าเหมาะสมกับอาการป่วยทางเศรษฐกิจภายในชาติของตน
ใบสั่งยาข้างต้นดูเหมือนจะเป็นเจตนาดีของหมอใจดีที่ต้องการเยียวยาคนไข้ให้หายจากป่วย แต่ผลของการนำยาขนานต่างๆข้างต้นมาใช้ ได้ก่อให้เกิดผลร้ายข้างเคียงในระยะยาวอย่างไม่อาจจะประเมินได้
ในกรณีของชิลีนั้น ในปี ค.ศ. 1983 วิกฤติการณ์ของสถาบันการเงินคล้ายๆกับที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ของไทยในปัจจุบัน คือ สถาบันการเงินจำนวน 10 สถาบัน ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดถึงร้อยละ 45 ของระบบการเงินการธนาคารทั้งหมด ได้ถูกรัฐบาลสั่งปิด หรือ เข้าควบคุม
ระบบธนาคารที่อ่อนแอ แต่ กลับเข้มแข็งการเมือง นั้นทำให้การควบคุมการดำเนินงานของธนาคารให้มีลักษณะ เป็นสถาบันมืออาชีพ (Professional ) กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ภาวะเช่นนี้ก็เหมือน กับภาวะที่ดำรงอยู่ในเมืองไทยอย่างไม่มีผิด
รัฐบาลชิลีต้องควักกระเป๋าเงินภาษีอากรของประชาชนเป็นจำนวนถึง 3 หมื่นล้านเหรียญอเมริกัน หรือ 8 แสนล้านบาทเข้ากู้สถานการณ์
เช่นเดียวกันกับรัฐบาลเม๊กซิโก
รัฐบาลเวเนซูเอลล่า ก็ใช้เงินจำนวนที่ไม่น้อยกว่ากันนี้ เข้ากู้สถานการณ์ไม่ให้ระบบการเงินในประเทศล้ม
ทุกประเทศข้างต้นจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ (ช่วยเถือ)จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่นธนาคารโลก หรือ ไอ.เอ็ม.เอฟ (ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของ) เพราะรัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอที่จะเข้าอุ้มสถาบันการเงินเกือบครึ่งหนึ่งที่กำลังจะล้มพัง
ในภาวะที่ไม่มีทางเลือกเช่นนี้ ก็เหมือนคนจนที่ต้องจำนอง หรือ ขนทรัพย์สินทุกชนิดเข้าโรงจำนำ และถูกเรียกดอกเบี้ยเท่าไรก็ต้องยอม เพราะไม่มีอำนาจจะต่อรอง หรือ หน้าตักหมดแล้วนั้นเอง
วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือ อันที่จริง คือ วิกฤติการณ์ทางการเงินการธนาคาร ในประเทศลาตินอเมริกันข้างต้น เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศกระโดดเข้ามาเป็นอัศวินม้าขาวกอบกู้สถานการณ์โดยไม่มีใครว่ากล่าวได้
ผลที่ตามมา คือ ในทุกวันนี้ ธนาคารต่างชาติได้เข้าถือหุ้นควบคุม กิจการการธนาคารในประเทศเวเนซูเอลล่ากว่าร้อยละ 40
ส่วนเม๊กซิโกซึ่งเป็นประเทศใหญ่หน่อย ธนาคารต่างชาติก็ได้เข้าถือหุ้นควบคุมไว้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 25 เข้าไปแล้ว
ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเล็ก ก็ คงหนีไม่พ้นวัฏจักรข้างต้น เพราะว่าวิกฤติการทั้งทางการเงินการธนาคารที่เกิดขึ้นไม่มีใครรู้ว่า เป็นการวางแผนให้นายธนาคารของไทย และนักธุรกิจเรามีสายตาสั้นมองเห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าจากอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันระหว่างภายในประเทศ และภายนอกประเทศ ทำให้ได้กำไรงามจากการเป็นนายหน้า
ทุนจากกองทุนรวม และนักลงทุนต่างชาติที่โถมเข้ามาเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วในตลาดหลักทรัพย์ไทย ทำให้เศรษฐกิจแบบฟองสบู่เฟื่องฟู พอแมลงเม่ากระโดดเข้ามามากๆ ทำให้หุ้นมีราคาสูง ถึงจุดหนึ่ง ทุนต่างชาติเห็นว่าได้กำไรงามพอแล้ว ก็เทขายแล้วไปปั่นต่อในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นๆที่ยังขาดความเข้มแข็ง เพื่อสร้างสถานการณ์เช่นเดียวกัน
สิ่งที่เราจะเห็นในไม่ช้า คือ การล้มของบริษัทเงินทุนขนาดเล็ก และขนาดกลาง รวมทั้งธนาคารด้วย แล้วก็จะมีอัศวินม้าขาวจากต่างชาติที่มาในรูปสถาบัน หรือ องค์การระหว่างประเทศ หรือ รัฐบาลต่างประเทศ เช่นพี่เบิ้มอินทรีกระโดดเข้ามากู้สถานะการโดยยื่นเงื่อนไขที่เราไม่มีทางปฏิเสธได้ เช่น การเข้ามาถือหุ้นในธนาคารไทยได้อย่างไม่ถูกจำกัด หรือ การเข้าถือหุ้นในกิจการรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรมหาศาล เช่นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ องค์การโทรศัพท์ ฯลฯ ซึ่งเป็นกิจการผูกขาด ไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรี (ราคาค่าบริการจึงสูงลิบลิ่ว แม้แต่ค่าบริการอินเตอร์เนท)
นั่นก็คือ การผูกขาดต่อไปข้างหน้าจะเป็นการผูกขาดให้ทุนต่างชาติเข้ามากินหัวกระทิ แทนรัฐฯ เช่นเดียวกับองค์การโทรศัพท์ของประเทศเม๊กซิโก และ กิจการน้ำมันของประเทศเม๊กซิโก
มีใครคิดบ้างไหมว่า เหตุการณ์ทั้งหมดข้างต้นที่เกิดขึ้นทั้งในเมืองไทย และในลาตินอเมริกา คือ แผนการหนึ่งของกระบวนการ Globalization นั่นเอง
นักการเมืองไทยนั้นหัวไวกว่าของต่างชาติตรงที่ว่าไม่ต้องรอให้ถึงจุดวิกฤติ แล้วให้ยอดชายนายคลินตันกระโดดเข้ามาเสนอมาตรการช่วยเหลืออย่างที่ได้อนุมัติงบประมาณพิเศษเข้ากู้สถานการณ์ในเม๊กซิโก แต่ได้เป็นผู้เสนอขายทั้งหุ้นในรัฐวิสาหกิจ และ ที่ดินให้ต่างชาติถือได้อย่างเสรีมากขึ้นไปแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อเอาหน้าในขณะนี้
ในแง่ของผู้บริโภค ก็อาจจะได้รับการบริการ และการคิดราคา หรือ การคิดดอกเบี้ย ที่มาตรฐานและยุติธรรมขึ้นก็ได้ นะครับ
เพราะที่ผ่านๆมาก็สูบเลือดกันเองทั้งน้..า...น
ทางออกในระยะสั้นนั้นยังมองไม่ค่อยจะเห็น แต่ทางออกในระยะยาวนั้นพอมี ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์ยาวไกลเพียงพอ เพราะเศรษฐกิจของชาติ จะดีหรือไม่ดี ค่าของเงินจะแข็งมั่นคง เงินจะเฟ้อหรือไม่เฟ้อนั้น ก็ขึ้นอยู่กับรายรับ และรายจ่าย 2 ตัวเท่านั้น
ถ้าเรามีแหล่งเพิ่มรายรับได้แน่นอนชัดเจน และสามารถลดรายจ่ายรายใหญ่ๆที่เป็นตัวดึงเอาเงินตราออกนอกประเทศได้ ปัญหาก็จะบรรเทาเบาบางลง
รายจ่ายรายใหญ่ที่สุดรายการหนึ่ง ที่ดึงเอารายรับของเงินรายได้ของชาติออกไปอย่างมหึมา นั้น คือ รายจ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงปีละหลายแสนล้านบาท
คำถามคือ เราจะต้องเพิ่มการส่งออกสักเท่าไร ต้องถางป่ามาปลูกมันสำปะหลังอีกกี่ล้านไร่ ต้องทำลายป่าชายเลนอีกกี่ล้านไร่ เพื่อทำรายได้มาชดเชยกับรายจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันเบนซินที่ใช้ในการขนส่ง เผาผลายไปกับภาวะรถติดเดือนละเท่าไร ปีละเท่าไร
คำตอบ คือ จะต้องเปลี่ยนโครงสร้างการขนส่งทั้งหมดของชาติเสียใหม่ ให้หันมาพัฒนาการใช้รถไฟเป็นเส้นทางการขนส่งทั่วประเทศแทนรถ 10 ล้ออย่างทุกวันนี้ รวมทั้งทุ่มเงินพัฒนาให้เป็นเส้นทาง หรือ ปัจจัยการเดินทางของผู้โดยสารแทนการใช้รถยนต์โดยสารให้มากที่สุด
ถ้ามัวแต่คิดสร้างถนนเพิ่มอย่างโครงการมอเตอร์เวย์ มูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่ง หมายถึงว่ารายจ่ายไหลออกนอกประเทศทั้งด้านการสั่งเข้ารถยนต์ และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งมลภาวะจะตามมา ซึ่งสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
นั่นเป็นด้านการลดรายจ่าย ส่วนด้านรายรับนั้น ก็ให้ดูสิงค์โปร์ ว่ารายรับหลักของเขา คือ อะไร เรามีทางที่จะแย่งส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมการบริการบางประเภทมาจากสิงค์โปร์ได้บ้างไหม เช่น การเป็นศูนย์ของ Container Shipping Industry ซึ่งมีเม็ดเงินปีละ ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านเหรียญ เป็นเดิมพัน โดยการวางโครงการระยะยาวในการขุดคอคอดกระ และสร้าง Container terminal ขึ้นมาในบริเวณนั้น
ปัญหามีอยู่ว่า จะมีนักการเมืองคนไหนกล้าคิดโครงการใหญ่ๆที่ต้องใช้วิสัยทัศน์มองเห็นรายได้ และการแข่งขันในอนาคต รวมทั้งต้องเวลาสร้างเกิน 10 ปี ขึ้นไปไหม

ไม่มีความคิดเห็น: