ฮูโก ชาเวซ : สร้างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
กมล กมลตระกูล
การต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนในประเทศเวเนซูเอลลาเป็นบทเรียนที่การเมืองภาคประชาชนในประเทศไทยน่าเก็บบทเรียนมาศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาเนื้อหาในรัฐธรรมนูญใหม่ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีชาเวซได้ร่างขึ้นและเสนอให้ประชาชนทั้งประเทศลงมติรับหรือไม่รับ
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยอย่างท่วมท้น เพราะมีเนื้อหาปกป้องผลประโยชน์ของชาติไว้อย่างชัดเจน มีเนื้อหาปกป้องการรุกล้ำของลัทธิเสรีนิยมใหม่(การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่มีกติกาขององค์การค้าโลก มีองค์การไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก สถาบันไอเอฟไอ ธนาคารเอดีบีและไจก้า เป็นผู้กำหนดเงื่อนไขและสร้างกติกาเพื่อปล้นสดมภ์ได้อย่างถาวร) อย่างชัดเจน มีเนื้อหาปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน มีเนื้อหาระบุถึงความรับผิดชอบต่อสิทธิในดำรงชีพและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างชัดเจน
ในการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ที่ผ่านมานี้ ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ ของประเทศเวเนซูเอลา ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นด้วยคะแนนเสียง ประมาณ 5 ล้านคะแนน โดยได้รับคะแนนมากกว่าเมื่อครั้งที่เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2541 ถึง 1.2 ล้านคะแนน คิดเป็นร้อยละ 58
การเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2006 ชาเวซได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นวาระที่ 3 ทั้งๆที่มีประเทศมหาอำนาจพยายามและแทรกแซงโดยการหนุนนักการเมืองฝ่ายเสรีนิยมขึ้นมาโค่นเขา แต่ประชาชนรู้เท่าทันจึงไม่เอาด้วย
ระบบการเลือกผู้นำทางตรงเช่นนี้เท่านั้นที่คะแนนเสียง หรือ อำนาจของประชาชนจึงสามารถเป็นตัวชี้ขาดเลือกผู้นำที่มีนโยบายรับผิดชอบต่อสิทธิในดำรงชีพและมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชนได้อย่างแท้จริง เพราะยากที่จะมีใครสามารถซื้อคะแนนเสียงของประชาชนได้ทั้งประเทศ อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของปวงชนอย่างที่ไม่มีใครสามารถ ช่วงชิงเอาไปได้ มิใช่ระบบการเลือกตั้งทางอ้อมอย่างที่เป็นอยู่ของไทย ประเทศโบลิเวีย ประเทศชิลี ประเทศบราซิล และล่าสุด ประเทศนิคารากัว เป็นอีกกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกาที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเลือกผู้นำที่มีนโยบายชาติประชานิยมของแท้อย่างเช่น ชาเวซ ซึ่งเป็นผู้นำในการปฏิเสธลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่นำความยากจนมาให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ
การเลือกตั้งผู้ว่าก.ท.ม. เป็นเครื่องยืนยันว่าอำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทางตรงนั้น มีความเป็นไปได้ การเลือกนายกรัฐมนตรีทางตรง และคณะรัฐมนตรีทางตรงจึงน่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายของการปฏิรูปทางการเมือง ของภาค ประชาชน
การเมืองภาคประชาชนจึงมิใช่การไล่จับปูใส่กระด้ง แต่เป็นการเมืองที่ต้องเลือกและสร้างระบบใหม่ที่ยั่งยืน มีการถ่วงดุลที่ชัดเจน มีการตรวจสอบที่ชัดเจน และมีกลไกให้ภาคประชาชนสามารถฟ้อง หรือ ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างง่ายๆ และในกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญๆจะต้องให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ อันเป็นการเคารพในเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐธรรมนูญของเวเนซูเอลลาเรียกว่า อำนาจที่ 4
ก่อนจะไปกล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับสิทธิมนุษยชนและชาติประชานิยม อยากให้มาทำความรู้จักกับประเทศเวเนซูเอลลาสักเล็กน้อย
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้เดินทางมาถึงประเทศเวเนซูเอลลาเมื่อปี ค.ศ. 1498 พื้นที่ตรงนี้มีคนพื้นเมือง หลายเผ่า อาศัยอยู่ เช่นเผ่า อาราวัก คาริบ และชิบชา โคลัมบัสได้ยึดดินแดนแห่งนี้เป็นเมืองขึ้นของสเปนและตั้ง ชื่อดินแดน ที่เดินทาง มาถึงนี้ว่า เวเนซูเอลลา ซึ่งแปลว่า เวนิสน้อยเพราะมีภูมิประเทศคล้ายกับเมืองเวนิส
เมืองหลวงคาราคัสได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1567 ซิมอน โบลิวาร์เกิดในเมืองหลวงนี้ เมื่อปี ค.ศ. 1783 และเขาเป็นบุคคลแรกในทวีปอเมริกาใต้ที่จับอาวุธลุกขึ้นสู้เพื่อกู้เอกราชของชาวลาตินอเมริกาจากแอกของนักล่าอาณานิคมชาวสเปนในปี ค.ศ. 1818 และได้รับเอกราชในปี 1821 โดยใช้เวลาเพียง 11 ปีเท่านั้น
เมื่อได้รับเอกราชเขาได้ประกาศเป็นสหภาพมหาโคลัมเบียโดยรวมประเทศเข้ากับประเทศโคลัมเบีย และ เอควาดอร์ แต่ต่อมาในปี 1830 ก็แยกประเทศออกมาเป็นประเทศสาธารณรัฐต่างหากมาจนถึงทุกวันนี้
ประเทศสาธารณรัฐเวเนซูเอลลามีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ ๑ เท่า โดยมีเนื้อที่ ๙๑๒,๐๕๐ ตารางกิโลเมตร (ประเทศไทยมีเนื้อที่ ๕๑๔,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร) มีพื้นที่ครอบคลุมชายฝั่งทะเลภาคเหนือของทวีปอเมริกาใต้ ด้านทะเลแคริเบียนเกือบทั้งหมด พรมแดนด้านตะวันตกติดกับประเทศโคลัมเบีย ด้านตะวันออกติดกับประเทศกัวเตมาลา ด้านใต้ติดกับประเทศบราซิล
ประชากรมีประมาณ ๒๕ ล้านคนในการสำรวจปี ๒๐๐๔ เมืองหลวงชื่อคาราคัส ร้อยละ ๙๖ ของประชากรนับ ถือศาสนา คริสต์ นิการโรมันแคธอลิก
รายได้ประชาชาติต่อหัวประมาณ ๒ แสนบาทจากรายได้น้ำมันของประเทศ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน เพราะว่ารายได้น้ำมันนั้นไปเข้ากระเป๋านักการเมือง นักบริหารมืออาชีพ และบริษัทข้ามชาติเสียเป็นส่วนใหญ่
สถานการณ์ก่อนชาเวซได้รับการเลือกตั้ง
ชาเวซได้รับการเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตยอย่างขาวสะอาดด้วยการนำเสนอนโยบายประชานิยม (Populism) เมื่อปี 2541 โดย ชูนโยบาย “ กอบกู้คนจน โค่นล้มกลุ่มผูกขาดเศรษฐกิจการเมือง “ เพราะว่ารัฐบาล ก่อนหน้านี้ที่มีนาย คาร์ลอส อังเดร เปเรซ และ นาย คาลเดอรา โรดิเกซซึ่งแม้ว่าจะได้รับการเลือกตั้งมา แต่ก็บริหารงานโดยการฉ้อราษฏรบังหลวงและละเลยคนจน ทำให้มีคนว่างงาน คนไร้ที่อยู่อาศัยและขาดโอกาส การศึกษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้มากมายเต็มประเทศ ราคาสินค้า ค่ารถโดยสาร และอาหาร แพง หูฉี่ ช่องว่างรายได้ ของคนรวย กับคนจน ห่างกัน อย่างฟ้า กับดิน ทั้งๆที่เป็นประเทศร่ำรวยด้วยน้ำมันเป็นอันดับ 5 ของโลก
นาย ซี พี แพนได และจัสติน พอเดอร์ นักหนังสือพิมพ์ผู้เกาะติดข่าวในลาตินอเมริกาประเมินว่าการ คอรัปชั่นในยุคของ รัฐบาลเปเรซ มียอดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่น 1 พันล้านเหรียญอเมริกัน หรือ 4 แสน 4 หมื่นล้านบาท( ดูใน Venezuelaanalysis.com , 22 January 2004)
ไม่เพียงแค่นั้น นายเปเรซได้เดินตามนโยบายเสรีนิยมใหม่โดยการเปิดเสรีให้โอกาสบริษัทข้ามชาติเข้ามา ตักตวง ยึดครอง และผูกขาดอุตสาหกรรมน้ำมันของชาติในลักษณะของการคอรัปชั่นทางนโยบายด้วยการ ตั้งบริษัทไปร่วมทุนกับ บริษัทน้ำมัน อเมริกันซื้อโรงกลั่นในอเมริกา บริษัทจัดจำหน่ายน้ำมันชื่อซิทโก ( CITGO) รับซื้อน้ำมันในราคาถูกจาก เวเนซูเอลลา ไปขายปลีก ในอเมริกา บริษัท นี้มี นักการ เมืองและนักบริหาร ระดับสูงของ PDVSA ( Petroleos de Venezuela, S.A.) พีดีวีเอสเอ(ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ) เข้าถือหุ้นด้วยเป็นจำนวนมาก
ผลกำไรของบริษัทที่ตั้งขึ้นนี้ไม่เคยส่งกลับมาเข้าประเทศเลย
พีดีวีเอสเอ กลายเป็นรัฐซ้อนรัฐ เพราะว่าผู้บริหารส่วนใหญ่มาจากกรรมการผู้บริหารของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ ของโลก คือ เชลล์ เอ๊กซอน บีพี นักบริหารมืออาชีพเหล่านี้จึงพยายามกำหนดให้องค์กรของตนมีอิสระ และไม่ต้องเดินตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรและพลังงาน
กรณีนี้ก็คล้ายๆกันกับกรณีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(ก.ฟ.ผ.) และ ป.ต.ท. นั่นเอง ไม่รู้ว่าใครเลียนแบบใคร
วิธีการนี้คือ การปล้นสดมภ์รายได้น้ำมันของประเทศซึ่งควรจะต้องนำไปใช้พัฒนาด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านสาธารณูปโภคที่จำเป็น หรือ ที่พักอาศัยของคนจนซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสลัม
นโยบายเสรีนิยมใหม่ในด้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การตัดลดงบประมาณ การเปิดเสรี และการยกเลิกกฎกติกา ควบคุมบริษัทข้ามชาติทำให้เศรษฐกิจของประเทศในยุคเปเรซลดลงร้อยละ 8.6 คนยากจนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43.9 ของประชากรทั้งประเทศในปี 1988 และเพิ่ม เป็นร้อยละ 66.5 ในปี 1989
นายเปเรซแก้ปัญหาด้วยการบากหน้าไปกู้เงินจากไอเอ็มมเอฟ เป็นจำนวน 1 หมื่น 4 พันล้านเหรียญ โดยมีเงื่อนไขต้องเปิดเสรีประเทศให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น
ประชาชนทั้งประเทศจึงได้ลุกฮือขึ้นประท้วงในสมัยของนายเปเรซมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 เปเรซ ได้สั่ง ให้ใช้กำลังทหารปราบ ปรามอย่าง เด็ดขาด มีผู้เสียชีวิต อย่างน้อย 3000 คน ในระหว่างเวลา 15 วันที่มีการประท้วง
ความไม่พอใจต่อรัฐบาลฉ้อราษฏรบังหลวงนี้เองที่เป็นเงื่อนไขให้ชาเวซก่อการรัฐประหารถึง 2 ครั้งในปี 1992 แต่ไม่สำเร็จทั้ง 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตามเมื่อชาเวซ เปลี่ยนแนวทางการต่อสู้มาใช้หนทางการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยทางตรง เมื่อชาเวซได้รับการเลือกตั้งแทนที่จะลืมคำมั่นสัญญา เหมือน กับนักการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ชาเวซกลับ เดินหน้า นำนโยบายประชานิยมมาใช้อย่างเต็มที่โดยได้แต่งตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อรองรับ นโยบาย ประชานิยมและสิทธิมนุษยชน
รัฐธรรมนูญใหม่ที่มีมาตรา มากถึง 350 มาตรา มากกว่ารัฐธรรมนูญเก่าถึง 98 มาตรา และมากกว่ารัฐธรรมนูญไทย ฉบับปี 2540 ถึง 14 มาตรา โดยของเรามีอยู่ 336 มาตรา ซึ่งเคยเป็นรัฐธรรมนูญที่มีมาตรามากที่สุดในโลก แต่บัดนี้ถูกแซงหน้าไปแล้ว
รัฐธรรมนูญของเวเนซูเอลลาได้รับการลงประชามติรับรองจากประชาชนด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น จึงเรียกได้ ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่คำนึงถึง ผลประโยชน์ ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริงและชัดเจนโดยไม่ต้องตีความ อาจจะเรียกได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มปาก เช่น
ในมาตรา 1 สาธารณรัฐโบลิวาเรียนของเวเนซูเอลลาเป็นประเทศเสรีที่มีอิสระภาพที่ละเมิด มิได้ ยึดถือในมรดก ที่เป็นหลักการทางจริยธรรมในด้าน คุณค่าของอิสระภาพ ความเท่าเทียมกัน ความยุติธรรมและ สันติภาพโลก ของซิมอน โบลิวาร์ ผู้กู้อิสรภาพของประเทศ อิสรภาพ เสรีภาพ อธิปไตยของชาติ สิทธิในการปกป้องประเทศ ปกป้องอาณาเขต และสิทธิในการกำหนดตนเองของชาติเป็นสิทธิที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้
มาตรา 2 ประเทศเวเนซูเอลลา เป็นรัฐที่ยึดถือเอาสังคม และประชาธิปไตยเป็นคุณค่าพื้นฐานของกฎหมาย ความยุติธรรม และ การบังคับใช้ต่อชีวิต เสรีภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน ความสมานฉันท์ ประชาธิปไตย ความรับผิดชอบต่อสังคม โดยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน จริยธรรม และความแตกต่างทางการเมือง
มาตรา 9 ระบุว่า ภาษาสเปน เป็นภาษาราชการ แต่ การใช้ภาษาท้องถิ่นของชนกลุ่มน้อยในท้องถิ่นถือว่าเป็นภาษาราชการสำหรับคนท้องถิ่นที่ต้องยอมรับในขอบเขตทั่วอาณาเขตในฐานะที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของมนุษยชาติ
มาตรานี้เป็นการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการของชนกลุ่มน้อย และคนพื้นเมือง เช่น ชาวอินเดียน ที่มีอยู่จำนวนมากบนเทือกเขา ถ้ารัฐธรรมนูญไทยเขียนไว้ชัดเจน เช่นนี้อย่างไม่มีเงื่อนไขให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นๆที่ล้าหลังและขัดแย้งกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ปัญหาไฟใต้ก็คงไม่ลุกลามมาถึงระดับนี้ อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะปรับนโยบายและกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
มาตรา 12 รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า แร่ธาตุ น้ำมัน และทรัพยากรธรรมชาติทั้งปวง ในอาณาเขต ของชาติ ทั้งที่อยู่ ใต้ดิน ใต้ทะเล พื้นที่ชายฝั่งทะเล และในอากาศเป็นทรัพย์สิน ของสาธารณะชนดังนั้นจึงห้ามโอน กรรมสิทธิ์ให้ เป็นของ เอกชนหรือชาวต่างชาติ
มาตรานี้เป็นการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเลยในการห้ามการให้สัมปทานและแปรรูปรัฐวิสาหกิจทรัพยากรของ แผ่นดินอย่างสิ้นเชิง ซึ่งตรงกันข้ามกับของรัฐธรรมนูญไทยที่อ้างกันหนักหนาว่าดีที่สุดในโลก
มาตรา 13 กำหนดว่ากรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เป็นของชาวเวเนซูเอลลาเท่านั้น ห้ามโอนกรรมสิทธิให้กับต่างชาติ ที่ดินว่างเปล่า เกาะ แก่งในแม่น้ำเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ และห้ามออกเอกสารสิทธิ์ให้กับเอกชน นอกจากการให้เช่าใช้ประโยชน์เท่านั้น
ประเทศเวเนซูเอลลาเป็นดินแดนแห่งสันติภาพ จึงห้ามต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพทางทหาร
มาตรา 21 ตำแหน่ง หรือ ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อแสดง อภิสิทธิ์ หรือ เรียกร้องการ ปฏิบัติ ที่แตกต่างจากคนทั่วไปได้
มาตรานี้เป็นการเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนสากลขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะมีฐานะ สีผิว เชื้อชาติ ชนเผ่า หรือ นับถือศาสนาใด หรือมีความเชื่อทางการเมืองใดก็ตาม จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
มาตรา 23 สนธิสัญญา อนุสัญญา และกติการะหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ที่มีผลบังคับใช้ และรัฐบาลเวเนซูเอลลาได้ลงนาม หรือ ให้สัตยาบรรณ ถือว่าเป็นกฏหมายที่มีสถานะเท่าเทียมกับรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจบังคับใช้เหนือกว่ากฎหมายภายในประเทศ ถ้าหากว่ากฎหมายระหว่างประเทศข้างต้นมีข้อความให้สิทธิและยอมรับการใช้สิทธิมากกว่าที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือกฎหมายอื่น ก็ให้ถือว่ามีผลบังคับใช้ทันทีโดยศาลและหน่วยงานของรัฐทุกหน่วย
มาตรานี้ แสดงความจริงใจของประเทศในการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงโดยไม่มีเงื่อนไข โดยเฉพาะการยอมรับสถานะของกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนให้มีผลบังคับใช้เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
มาตรา 29 รัฐมีพันธกรณี ต้องสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน จะไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายฉบับอื่นๆ รวมทั้งกฏหมายการให้อภัยโทษหรือ การนิรโทษกรรม
มาตรา 30 รัฐมีพันธกรณีในการจ่ายชดเชยค่าเสียหายอย่างเต็มที่ให้กับผู้ที่เสียหาย หรือ หรือผู้ที่ได้รับฉันทะตามกฏหมายในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ใน ๒ มาตรานี้เป็นการตอกย้ำถึงความจริงใจของรัฐบาลของนายชาเวซที่ให้การเคารพในสิทธิมนุษยชน อย่างสูง โดยไม่มีการหมกเม็ดแต่อย่างใดทั้งสิ้น
มาตรา 73 ระบุว่า การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ข้อตกลง หรือการให้สัตยาบรรณกติการะหว่างประเทศ ที่อาจจะมีผลกระทบต่ออธิปไตยของชาติ หรือการโอนอำนาจให้กับองค์กรเหนือรัฐ(รัฐวิสาหกิจ และการแปรรูป) จะต้องผ่านการ ลงประชา มติโดยประชาชนทั้งประเทศ
ชาติประชานิยมในรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญของเวเนซูเอลลาเป็นรัฐธรรมนูญที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และสวนทางกับกระแสของระบอบทุนครอบโลก(Globalization) การค้าเสรีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีทุนมากกว่า มีเทคโนโลยี่สูงกว่า มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการมากกว่า และได้ผูกขาดกลไกการตลาด สื่อมวลชน และการโทรคมนาคม ไว้ทุกด้านจึงได้เปรียบและผลักดันให้ทุกประเทศเปิดเสรี(ยอมให้ขูดรีดอย่างเสรี)
มาตราต่อไปนี้เขียนไว้อย่างชัดเจนและรัดกุมในการปกป้องไม่ให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาปล้นสดมภ์ทรัพยากร ของชาติด้วยข้ออ้างของลัทธิตลาดเสรีมาเอาเปรียบ ชาวเวเน ซูเอลลา
มาตรา 301 รัฐสงวนสิทธิในการใช้นโยบายการค้าเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของสาธารณะและธุรกิจของชาวเวเนซูเอลลา การลงทุน ธุรกิจ บริษัทและเอกชนชาวต่างชาติจะไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสิทธิใดๆมากกว่าที่ประชาชนชาวเวเนซูเอลลาได้รับ
มาตรานี้บัญญัติไว้เพื่อไม่ให้กติกาขององค์การค้าโลกสามารถบังคับใช้ในประเทศเวเนซูเอลลาในหัวข้อเรื่อง National Treatment หรือการปฏิบัติเหมือนคนชาติ ที่บังคับให้ทุกประเทศต้องให้สิทธิต่อคนต่างชาติและธุรกิจข้ามชาติ ไม่น้อย กว่าคนในชาติ ซึ่งตีความ ได้ว่า ธุรกิจข้ามชาติและนักธุรกิจต่างชาติมีสิทธิที่จะ ได้รับอภิสิทธิ์มากกว่าบุคคลในชาติ มิใช่เพียง แค่มีสิทธิ เท่ากันเท่านั้น
มาตรา 302 รัฐสงวนสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดด้วยเหตุผลของผลประโยชน์ของชาติ อุตสาหกรรมน้ำมันและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการผลิต ด้านตัวสินค้าและด้านการบริการเป็นสมบัติของชาติและเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ความมั่นคงโดยธรรมชาติ รัฐมีหน้าที่สนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตจากอุตสาหกรรมข้างต้น ให้คนในชาติได้มีงานทำ ได้สร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยี่ พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต พัฒนาชาติให้มั่งคั่งเพื่อความอยู่ดีกินดีของคนส่วนใหญ่
มาตรา 303 เพื่อรักษาอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ การเมือง และยุทธศาสตร์ รัฐจะเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของกิจการน้ำมันของรัฐที่มีชื่อว่า PDVSA ( Petroleos de Venezuela, S.A.) หรือบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารงานกิจการข้างต้น ยกเว้น บริษัทร่วมทุนทางธุรกิจ
มาตรา 304 ทรัพยากรน้ำทั้งหมดเป็นสมบัติสาธารณะเพราะมีความสำคัญต่อชีวิตและการพัฒนา และต้องกำหนดในกฎหมายให้คุ้มครองการใช้ประโยชน์ และป้องป้องไม่ให้มีการทำลาย วงจรธรรมชาติของน้ำ
มาตราทั้ง 3 นี้บัญญัติไว้เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองหัวใสจัดการแปรรูปกิจการเหล่านี้เพื่อ ให้พรรคพวก ของ ตัวเองเข้าไปถือหุ้นยึดเอาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของสาธารณะมา เป็นสมบัติส่วนตน เหมือนบาง ประเทศ เช่น ประเทศไทย เป็นต้น
มาตรา 305 รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนโดยยึดถือเป็นยุทธศาสตร์พื้นฐานในการพัฒนา ชนบทเพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนมีอาหารกินอย่างเพียงพอ รัฐมีหน้าที่จัดหาเงินทุน ตลาด เทคโนโลยี่ ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรมอาชีพ และมาตรการที่จำเป็นอื่นๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้
อาชีพชาวประมงตามชายฝั่งทะเลต้องได้รับการคุ้มครองรวมไปถึงเขตประมงนอกชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนด้วย
มาตรา 307 การถือครองที่ดินขนาดใหญ่เป็นการขัดผลประโยชน์ของสังคม มาตราการทางภาษีต้องนำมาใช้เพื่อ ขัดขวางการถือครองประเภทนี้ รวมทั้งมาตรการอื่นๆเพื่อนำที่ดินเหล่านี้มาทำประโยชน์ เกษตรกรมีสิทธิในการเป็น เจ้าของที่ดินทำกิน
มาตรานี้บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันการกักตุนที่ดินกันคนละเป็นพันเป็นหมื่นไร่โดยไม่ได้ทำประโยชน์ให้คุ้มค่า และทำให้เกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน
มาตรา 308 รัฐจะปกป้องและสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง สหกรณ์ ธุรกิจของครอบครัว และธุรกิจของชุมชนเพื่อเป็นการสร้างงาน เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ ของประเทศ รัฐมีหน้าที่จัดหาเงินทุนให้
มาตรา 311 รัฐมีหน้าที่นำรายได้ทั้งหมดที่ได้มาจากทรัพยากรธรรมชาตินำมาใช้ในการลงทุนที่มีประโยชน์ สนับสนุนการศึกษาและสาธารณสุขของประชาชน
มาตรา 333 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในกรณีที่มีการยุติการใช้ด้วยอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องต่อสู้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
มาตรานี้เป็นการมอบหมายหน้าที่การปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้ประชาชนเป็นผู้ปกป้อง
ตัวอย่างของมาตราบางมาตราที่ยกมาอ้างข้างต้น ในรัฐธรรมนูญที่ประธานาธิบดีฮูโก ซาเวซ เป็นผู้ผลักดันให้ร่างและส่งให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติรับรองนี้เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นต่อนโยบายชาติประชานิยมที่คำนึงถึงผล ประโยชน์ และความอยู่ดีกินดีของประชาชนและประเทศชาติเป็นตัวตั้งในการดำเนินนโยบายโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นฐาน รองรับ
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญนี้ และกฏหมายอีก 49 ฉบับที่ออกตามมา เช่นกฏหมายปฏิรูปที่ดิน และกฏหมาย ว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมันของชาติ ได้ทำให้มีกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม เช่น นักการเมืองเก่า ข้ารัฐการเก่า นักเทคนิกบริหาร และนายทหารบางกลุ่มเสียผลประโยชน์อันได้มาอย่างไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำมันและการจัดจำหน่ายน้ำมันที่เคยได้อภิสิทธิ์ผูกขาด จากการจ่ายเงินสินบนใต้โต๊ะ และแบ่งผลประโยชน์ในหมู่พวกพ้อง วงศาคณาญาติ ดังนั้นกลุ่ม เหล่านี้จึง รอจังหวะที่จะหาทางโค่นประธานาธิบดีชาเวซลงให้ได้
การก่อกวนของกลุ่มการเมืองเก่าที่เป็นศัตรูของประชาชนผู้ยากไร้
แม้ว่าประเทศเวเนซูเอลลาจะเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันเป็นอันดับ ๕ ของโลก รายได้จากน้ำมันซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งรัฐถือหุ้นทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 26.4 ของจีดีพี หรือ ผลผลิตรวมของชาติ คิดเป็นร้อยละ 80.20ของรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และคิดเป็นรายได้ร้อยละ 45.6 ของรายรับของรัฐ
กระนั้นก็ตาม ประชาชนร้อยละ 67 ในปี 1997 จากจำนวน 25 ล้านคนมีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนคือมีรายได้ ต่ำกว่า วันละ 2 เหรียญอเมริกัน หรือ 80 บาท ทั้งนี้เพราะรัฐบาลทหารและนักการเมืองในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาก่อนหน้าเข้าได้รับการเลือกตั้ง ต่างฉ้อราษฏรบังหลวงอย่างสะบั้นหั่นแหลก กิจการน้ำมันของรัฐที่มีชื่อว่า PDVSA ( Petroleos de Venezuela) ถูกนักการเมืองเข้าควบคุม และส่งเงินเข้ารัฐน้อยมาก ( คล้ายๆกับกฟผ. และ ปตท.)
นาย คาร์ลอส อังเดร เปเรซ ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1961 ได้นำนโยบายเสรีนิยมใหม่มาใช้อย่างเต็มขั้น โดยการยุติการให้การอุดหนุนสินค้าอาหาร เชื้อเพลิง ที่อยู่อาศัย การศึกษา การรักษาพยาบาล ค่าโดยสารรถประจำทาง โดยปล่อยให้เป็นไป ตามกลไกการตลาดที่กำหนดโดยนายทุน ประชาชนจึงเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า คนจนเพิ่มขึ้นนับ จำนวนไม่ถ้วน
กลุ่มนักการเมือง นักเทคนิกบริหาร กลุ่มสื่อสารมวลชน และทหารที่นำโดย รัฐบาล ก่อนหน้านี้ที่มีนาย คาร์ลอส อังเดร เปเรซ ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1961 สูญเสียผลประโยชน์ เมื่อชาเวซได้รับการเลือกตั้ง จึงร่วมมือกับกลุ่มผูกขาดน้ำมันข้ามชาติอเมริกันทำการก่อกวนตั้งแต่ การยุยงให้คนงานบริษัทน้ำมันหยุดงาน ทำลายเครื่องจักร กักตุนอาหาร ไม่ยอมส่งออกไปจำหน่าย ทำให้อาหารขาดแคลน และ มีราคาแพง สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างแสนสาหัส ลอบส่งเงินออกนอกประเทศเพื่อทำลายเสถียรภาพของค่าเงินมากถึง 3.2 หมื่นล้านเหรียญ
เมื่อใช้วิธีการข้างต้นทุกประการแล้วยังไม่สำเร็จ กลุ่มของนายเปเรซที่เสียผลประโยชน์ก็ร่วมมือกับทหารกลุ่มหนึ่ง ก่อการรัฐ ประหาร และจับตัวประธานาธิบดีชาเวซควบคุมตัวไว้ 2 วันในเดือน เมษายน 2002 และแต่งตั้งนาย เพโดร คาร์โมนา เอสแทนกา ประธานกลุ่ม Fedcameras ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ แค่ 2 วัน Fedcameras เป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด และเป็นผู้นำในการสั่งให้คนงานหยุดงานและหยุดขายสินค้า ร่วมกับ Consecomercio ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจผู้ ค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็ต้องปล่อยตัวชาเวซออกมาเมื่อ ประชาชนทั้ง ประเทศ ที่เลือกชาเวซ ลุกฮือร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา
อันที่จริงกลยุทธนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในทวีปลาตินอเมริกา ในปี 1973 หรือ 30 ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีอัลเยนเด้ ของประเทศชิลี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น และดำเนินนโยบายชาติประชานิยม โดยการโอนกิจการ อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ คือ เหมืองทองแดง และกิจการโทรคมนาคมเข้ามาเป็นของรัฐ
อัลเยนเด้จึงถูกก่อกวนด้วยการสร้างสถานการณ์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้ปั่นป่วนด้วยวิธีการข้างต้น เช่นสหภาพ กรรมกรรถขนส่งหยุดงานประท้วง ไม่ยอมส่งสินค้าและอาหารไปเข้าร้านค้า มีการกักตุนอาหาร ส่งเงินออก นอก เพื่อทำลาย เสถียรภาพของค่าเงิน และก่อการรัฐประหารในที่สุดโดยการสนับสนุนของรัฐบาลอเมริกัน และบริษัท อเมริกัน หลายบริษัท ที่เด่นๆ คือ บริษัทไอทีที
อัลเยนเด้ถูกสังหารในทำเนียบเพื่อรักษาอุดมคติ ว่าเขาไม่ทอดทิ้งประชาชน โดยไม่ยอมหลบหนีออกไป ตาม คำแนะนำของกอง กำลัง รักษา ความ ปลอดภัย ของทำเนียบ นายพลปิโนเชต์ ผู้ก่อการรัฐประหาร หลังจากครองอำนาจได้กว่า 25 ปี ปัจจุบันกำลัง ถูกฟ้องในข้อหาคอรัปชั่น หลายคดี
กลยุทธต่อมาที่กลุ่มนายเปเรซและบริษัทน้ำมันอเมริกันใช้ คือ การล่ารายชื่อได้จำนวนมากพอให้มีการลงประชามติขับประธานาธิบดีชาเวซออกจากตำแหน่งหลังจากการเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 2 ปีเศษ
แต่ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ก็ได้รับคะแนนเสียงยืนยันจากประชาชนทั้งชาติ มากถึงร้อยละ 58 ต่อ 42 ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป
การก่อกวนของกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหายยับเยินมากถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในภาคการผลิตน้ำมัน จีเอ็นพีลดลงร้อยละ 27.6 ในปี 2003 หรือ ร้อยละ 76.7 ของภาคการผลิตที่ไม่ใช่ภาคน้ำมันรัฐ และคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของภาคการผลิตน้ำมันของรัฐ
อัตราเงินเฟ้อซึ่งในระหว่างปี 1999-2001 รัฐบาลควบคุมไว้อยู่แล้ว ได้ถูกก่อกวนให้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 38.7 หรือ ประมาณ ร้อยละ 1.56 ต่อเดือนในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2003
อัตราว่างงานได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2003 ได้เพิ่มเป็น 20.7จากแรงงานทั้งหมด จำนวน 2.4 ล้านคน
เนื่องจากชาเวซเป็นประธานาธิบดีที่มีฐานมาจากประชาชนส่วนข้างมากที่ยากจน เขาจึงสามารถ ตอบโต้และ ใช้มาตร การต่างๆที่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนมาช่วย เช่น การยึดโกดังคลังกักตุนอาหารของกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุน อดีตประธานาธิบดีเปเรซ ให้นำออกมาจำหน่ายในตลาด จัดตั้งประชาชนเป็นสมาคมผู้บริโภค เพื่อเพิ่มอำนาจ ต่อรองใน การกำหนด ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมทั้งการสร้างเครือข่ายตลาดจัดจำหน่ายสินค้า แบบตลาดนัด ทั่วทุก ชุมชน ทั่วประเทศเพื่อจำหน่ายสินค้าราคาถูกให้ประชาชน
นอกจากนี้ชาเวซยังออกกฏหมายมาควบคุมค่าเช่าไม่ให้ขึ้นสูงจนเกินไป และสั่งควบคุมการลอบส่งเงิน ตราออก นอกประเทศด้วย และจำกัดการใช้จ่ายของชาวเวเนซูเอลลาที่เดินทางออกนอกประเทศไม่ให้ใช้เกินคนละ 2000 เหรียญต่อปีเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินด้วย
เส้นทางไม่ได้โรยด้วยดอกกุหลาบ
ประธานาธิบดี ฮูโก ชาเวซ เฟรียส์ เกิดที่เมือง ซาบานีตา รัฐบารินาส์ เมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม 1954 หรือ พ.ศ. 2497 พ่อแม่เป็นครูทั้งคู่ เมื่อเขาเรียนจบโรงเรียนชั้นมัธยมปลาย พ่อแม่ก็ส่งเขาเข้าเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยตามธรรมเนียมของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่ทหารเป็นผู้ปกครองประเทศด้วยการปฏิวัติและรัฐประหารมาโดยตลอด ดังนั้น ถ้าต้องการเห็นลูกหลานก้าวหน้า ก็ต้องส่งเข้าโรงเรียนทหาร(ค่านิยมเดียวกับของไทย ไม่รู้ว่าใคร่ลอกเลียนแบบใคร…….?.)
หลังจากเรียนจบและเข้ารับตำแหน่งในกองทัพแล้ว ในปี 1982 เขาได้ก่อตั้ง ขบวนการปฏิวัติชาวโบลิวาร์ขึ้นมาดำเนินการทางการเมือง และ ระหว่างปี 1989-1990 สมัครเข้าเรียนสาขาวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย ซีมอน โบลิวาร์ ( ตั้งตามชื่อนักปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ของลาตินอเมริกา) ในเมืองคาราคัส
ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ในปี 1992 ชาเวซ ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของประธานาธิบดี คาร์ลอส อ ันเดร เปเรซ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าคอรัปชั่นและไม่ใส่ใจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การยึดอำนาจครั้งนี้ล้มเหลวและเขาถูกจับติดคุก 2 ปี
ในระหว่างติดคุก ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 1992 เขาได้ลอบอัดวิดิโอเทปตัวเองเรียกร้องทหารให้ลุกขึ้นมาก่อการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง ในการลุกฮือครั้งนี้เกิดการต่อสู้กันมีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่งและเสียชีวิต 230 คน แต่ก็ล้มเหลว
ประธานาธิบดีคนต่อมาของเวเนซูเอลลา ชื่อ คัลเดอราได้ประกาศนิรโทษกรรมชาเวซในปี 1994
เมื่อออกจากคุกแล้ว ชาเวซได้ก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ ขบวนการสาธารณรัฐที่ 5 หรือ MVR ขึ้นมา และในปี 1998 พรรคการเมืองแนวร่วมฝ่ายซ้ายที่มีพรรคเอ็มวีอาร์ของชาเวซเป็นผู้นำได้รับคะแนนเสียง ร้อยละ 34 ของรัฐสภาแห่งชาติ และเสนอชื่อเขาเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
เขาได้รับชัยชนะด้วยคะแนนเสียงมากถึงร้อยละ 56 ของผู้ลงคะแนนเสียงทั้งหมดด้วยการชูคำขวัญ “ กอบกู้คนจน โค่นล้มกลุ่มผูกขาดเศรษฐกิจการเมือง “ ซึ่งมากที่สุดในรอบ 4 ศตวรรษ
ชัยชนะของชาเวซเป็นการสิ้นสุดและทำลายระบอบพรรคการเมือง 2 พรรค อันได้แก่ พรรค กิจประชาธิปไตย ( Democratic Action)-AD) และ พรรค สังคมนิยมคริสเตียน Christian Socialist Party-COPEI) ที่ล้วนปกป้องผลประโยชน์ของคนรวยด้วยการปล้นสดมภ์ผลประโยชน์ของชาติและคนจนตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา
นโยบายชาติประชานิยม
นโยบายของประธานาธิบดี ชาเวซ คือ การเลือกทางสายกลางระหว่างระบบคอมมิวนิสม์และระบบทุนนิยม โดยยึดถืออุดมการณ์ของซีมอน โบลิวาร์ นักปฏิวัติทวีปนิยมที่ยิ่งใหญ่ของลาตินอเมริกา
ชาเวซได้ปฏิรูปทางการเมืองใหม่โดยสร้างกระบวนประชาธิปไตยใหม่โดยการจัดตั้งองค์กรประชาสังคมที่มีสมาชิกไม่เกิน 30 ครอบครัว เรียกว่า องค์กรชีวิตชุมชน หรือ Community Living Organization –OCVs ในทุกชุมชน ทุกเขต ทุกจังหวัด รวมทั้งในเมืองหลวง แล้วจัดสรรงบประมาณจากภาษีอากร และจากรายได้จากน้ำมันให้องค์กรเหล่านี้ไปดำเนินการในเรื่องการสุขอนามัย การศึกษา การฝึกอาชีพ สร้างสถานอนุบาลเด็กอ่อน
ชาเวซได้ตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาอีก ๓ กระทรวง คือ กระทรวงการเคหะ เพื่อจัดการแก้ปัญหาคนไร้บ้านให้มีบ้านอยู่กันทุกคน กระทรวงอาหารเพื่อแก้ปัญหาความอดอยากของประชาชนโดยเฉพาะเด็ก และกระทรวงพลัง เศรษฐกิจรากหญ้า เพื่อประสานงานกับกระทรวงและหน่วยงานของรัฐอื่นๆเพื่อปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้ประชาชนรากหญ้า บริษัทขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้ตั้งตัวได้
นอกจากนี้ยังได้จัดสรรงบประมาณอีก ๔๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.6 แสนล้านบาท สำหรับดำเนินการโครงการเร่งด่วน ๑๐ โครงการที่เรียกว่า “พันธกิจของรัฐ” ให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยดำรงชีพ เช่น อาหาร บ้าน การศึกษา และสาธารณสุขให้กับประชาชนระดับรากหญ้าจำนวนหลายล้านคนที่มีมาตรฐานชีวิตต่ำกว่าเส้นความยากจนได้มีบ้าน และสามารถอ่านออกเขียนได้
คนแก่ทุกคนได้รับเงินบำนาญเลี้ยงดู ประจำเดือน นอกจากนี้ประธานาธิบดีชาเวซยังได้ผูกมิตรกับประเทศคิวบาโดยการขายน้ำมันให้ในราคาพิเศษวันละ 53000 บาเรล แลกกับหมออาสาสมัครชาวคิวบาจำนวน 3 พันคนที่เข้ามาประจำการ 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลคนป่วย คนแก่ และเด็กโดยรัฐไม่คิดเงินแม้แต่ค่ายาก็ไม่ต้องจ่าย
โครงการนี้ใช้รายได้จากการขายน้ำมันของประเทศมาเป็นค่าใช้จ่าย นับเป็นครั้งแรกในรอบ ๔๐ ปีที่ผลประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีมากที่สุด คือ น้ำมันได้กลับคืนมาให้ประชาชนเจ้าของประเทศ ผู้เป็นเจ้าของ ทรัพยากร ที่แท้จริงได้
จากนโยบายข้างต้น ในเวลา 4 ปีชาเวซสามารถลดอัตราการตายของทารกกแรกเกิดจาก 24 ต่อ 1000 คน ลงเหลือ 17 คนต่อ 1000 คน หรือ ร้อยละ 30 เพราะว่าแม่ลูกอ่อนคนจนมีโอกาสได้รับการดูแลในโรงพยาบาล และทารกได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงครบทุกประเภท โดยเฉพาะโรคไวรัสลงตับ บีที่ลดลงร้อยละ 15
ประชากรจำนวน 1 ล้านคนที่เคยอ่านหนังสือไม่ออก ก็สามารถอ่านออกเขียนได้ด้วยนโยบายทุ่มเท งบประมาณ ให้การศึกษาทั้งในระบบ และนอกระบบ
ผลผลิตน้ำมันของเวเนซูเอลลาได้ส่งออกให้ตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาคิดเป็นร้อยละ ๑๕ ของยอดใช้น้ำมัน ของ สหรัฐอเมริกา ดังนั้นอเมริกาจึงมีบทบาทอย่างมากในการร่วมมือกับพรรคการเมืองและนักการเมืองหน้าเก่า ๒ พรรค ร่วมกันบ่อนทำลายเสถียรภาพของประธานาธิบดีชาเวซในทุกด้าน
ประธานาธิบดีชาเวซไม่ยอมให้ผลประโยชน์น้ำมันของชาติถูกนักการเมืองฉกฉวยเอาไปเข้ากระเป๋าตนเองและสมัครพรรคพวก หรือขายให้ ต่างชาติในราคาถูกๆอีก โดยการกำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ เลยว่า ส่วนแบ่งผลประโยชน์จาก น้ำมัน จะให้เอกชน ได้รับในสัดส่วน ที่มากกว่ารัฐไม่ได้ ตรงกันข้ามกับของไทยซึ่งรัฐวิสาหกิจ ที่มีกำไรมักจะ ส่งรายได้ เข้าคลังน้อยมาก
แต่เดิมน้ำมันที่ขุดได้จ่ายภาษีเพียงร้อยละ ๑๖.๖ แต่ในปี ๒๐๐๑ ชาเวชได้ขึ้นเป็นร้อยละ ๓๐ ของราคาน้ำมัน ที่ขาย ปลีกใน แต่ละ บาเรล(คิดที่ปลายทางจากยอดปริมาณการขายต่อบาเรล ซึ่งทำให้หลีกเลี่ยงได้ยากกว่าคิดจากผลกำไรรวม ซึ่งมักจะบวกค่าใช้จ่ายให้สูงไว้เพื่อจะได้มีกำไรน้อยๆ) อันเป็นการอุดช่องโหว่การ รั่วไหล ของรายได้ ของรัฐ แล้วนำราย ได้มา เป็นค่าใช้ จ่ายด้าน การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีชาเวซยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดประชุมกลุ่มประเทศผลิตน้ำมัน โอเปกที่เมืองหลวง คาราคัสของตนเพื่อจำกัดปริมาณการผลิตของแต่ละประเทศ ทั้งนี้เพื่อรักษาราคาน้ำมันของโลกให้เจ้าของบ่อน้ำมันมีกำไร ซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาที่ดำเนินนโยบายตามคำสั่งของกลุ่มบริษัทน้ำมันข้ามชาติที่ต้องการทำให้โอเปกแตกแยก โดยการให้เวเนซูเอลลาไม่ปฏิบัติตามนโยบายการจำกัดการผลิตเพื่อรักษาราคาน้ำมันโลกให้สูงไว้ ทั้งๆที่เวเนซูเอลลาเป็นหนึ่งในประเทศผู้ร่วมก่อตั้งโอเปก ซึ่งประเทศเจ้าของบ่อน้ำมันจะได้ประโยชน์มากกว่า การเพิ่มปริมาณการผลิต แล้วทำให้ราคาน้ำมันลดลง ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันจะได้ประโยชน์ โดยเฉพาะอเมริกาที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของเวเนซูเอลลา
ในปี 2007 ชาเวซประกาศซื้อกิจการโทรคมนาคมของชาติ ชื่อ Compania Anonima Nacional de Telefonos - CANTV ซึ่งเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ด้วย ( (เหมือนกับ บริษัทชิน ที่เป็นเจ้าของไอทีวีด้วย) คืนจากบริษัทต่างชาติ=Verizon ของอเมริกา
Electriccidad de Caracas ซึ่งเป็นบริผู้ให้บริการไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของเวเนซูเอลลา ซึ่งบริษัท AES Corp. ที่มีบริษัทแม่อยู่ในมลรัฐ Virginia –ของอเมริกาเป็นเจ้าของ และถูกแปรรูปไปในสมัยรัฐบาลฉ้อฉล ทำให้ชาวเวเนซูเอลลาต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงมาเป็นเวลานาน
ที่ดินต้องเป็นของผู้ไถหว่าน
ในประเทศเวเนซูเอลลา ที่ดินร้อยละ 60 อยู่ในการถือครองของเจ้าที่ดินจำนวน ร้อยละ 2 ของประเทศ คือ ประชากรร้อยละ 2 ถือครองที่ดินมากถึงร้อยละ 60 ของประเทศ (ไม่ต่างจากประเทศไทยมากนัก)
นโยบายของชาเวซ คือ การใช้ระบบภาษีเข้ามาแก้ปัญหา โดยการออก พ.ร.บ. ภาษีที่ดินใหม่ มาเก็บภาษีผู้ที่กักตุนที่ดินโดยไม่ทำประโยชน์ในผืนดินนั้น นอกจากนี้ เมื่อพ้นระยะเวลากำหนดแล้ว ยังไม่ทำอะไร รัฐบาลก็จะยึดที่ดินกลับคืนมาทำประโยชน์
นอกจากนี้ที่ดินที่เอกชนรุกล้ำยึดมาอย่างผิดกฎหมายก็จะถูกยึดคืนมาให้กับเกษตรที่ยากจนได้ทำกินในรูปของสหกรณ์ที่รัฐยังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ แต่ รัฐเป็นผู้จัดหาเงินทุน เครื่องมือ รวมทั้งสร้างบ้านและดรงเรียนให้ กับสหกรณ์
ชาเวซได้ปฏิรูปที่ดินโดยการแจกจ่ายที่ดินจำนวน 7.5 ล้านเอเคอร์ หรือ ๑๘.๗๕ ไร่ให้กับเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินจำนวน 1 แสน 2 หมื่นคนให้มีที่ทำกิน (ที่ดินที่ได้รับมานี้ห้ามขายต่อ ถ้าเลิกทำก็ต้องคืนกลับให้รัฐ)
รัฐบาลยังได้จัดหารถแทรกเตอร์อีกจำนวน ๒๐๐๐ คันจากประเทศจีนและบราซิลซึ่งมีราคาถูกมาให้กับ สหกรณ์เหล่านี้ด้วย
นอกจากนี้ ชาเวซยังกำหนดนโยบายเกษตรกรรมของชาติห้ามการปลูกพืชจีเอ็มโอทุกประเภท ในผืนดินของ เวเนซูเอลลา โดยยกเลิกข้อตกลงซึ่งรัฐบาลก่อนหน้าเขาได้ไปทำสัญญากับบริษัทมอนซานโตยักษ์ใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์ ของอเมริกัน ให้ใช้เนื้อที่ 1.25 ล้านไร่ในประเทศเวเนซูเอลลาปลูกถั่วเหลือง
นอกจากนี้แล้วชาเวซยังได้ก่อตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองเพื่อรักษาเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองไว้เป็นมรดก สำหรับ เกษตรกรทั่วโลกอีกด้วย
การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ประธานาธิบดีชาเวซได้ปล่อยนักโทษจำนวนมาก โดยเฉพาะนักโทษการเมือง เพราะว่าในระหว่างที่เขาติดคุก เขาได้ข้อมูลว่า มีนักโทษจำนวนมากที่ติดคุกโดยไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาคดีของศาลสถิตยุติธรรม เขาติดตั้งคอมพิวเตอร์ในคุกให้นักโทษเรียนรู้ หรือเขียนเรื่องราวชีวิตของตนออกเผยแพร่ ปล่อยกู้ให้นักโทษเปิดกิจการขนาดเล็กในคุกขายกันเอง เช่น ร้านขนมปังและคุกกี้
นักโทษชั้นดีจะได้รับการปล่อยตัวออกไปทำงานในเวลากลางวันและกลับมาติดคุกในเวลากลางคืน
ประธานาธิบดีชาเวซได้สร้างโรงเรียนใหม่ ๓๐๐๐ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของโรงเรียนที่มีอยู่เดิม เด็กนัก เรียนทุกคนจะได้รับอาหารเช้าก่อนเข้าห้องเรียน ชาเวซกล่าวว่า หากเด็กท้องหิวแล้วก็คงจะเรียนไม่รู้เรื่อง จึงมีนโยบาย ให้กินอาหารอิ่มก่อนเข้าห้องเรียน นอกจาากอาหารเที่ยงแล้วเด็กยังได้รับน้ำผลไม้และคุ๊กกี้ในตอนบ่ายอีกด้วย
จำนวนนักเรียนที่เข้าสู่ระบบได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30
สนามกีฬา และโรงละครเกิดขึ้นใหม่มากมายทั่วทุกชุมชนเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้สิทธิทางวัฒนธรรมตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากล เด็กคนไหนอยากเล่นกีฬาอะไรก็ได้เล่น โดยมีเครื่องมือ และอุปกรณ์พร้อม ในศูนย์ กีฬาชุมชน
จากนโยบายข้างต้น นายมาซา ซาวาลา ผู้อำนวยการธนาคารกลางแห่งชาติได้ประเมินตัวเลข อัตราการเติบโต ทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ ๑๒ ในปี ๒๐๐๔ เพราะว่าในไตรมาสแรกอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ ๒๙.๘ เมื่อเทียบกับ ไตรมาสของปีที่แล้วซึ่งมีการยุยงให้ผละงานทำให้ จีดีพีลดลงถึงร้อยละ ๒๗.๘ ส่วนภาคการผลิตน้ำมันและอุต สาหกรรม เกี่ยวเนื่องลดลงถึงร้อยละ ๔๗ ประเทศทั้งประเทศเกือบจะเป็นอัมพาต
ในไตรมาสแรกของปี ๒๐๐๔ ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆเติบโตมากถึงร้อยละ ๔๘ การก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๙.๕ การค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๗.๙ ส่วนด้านการขนส่งและการโกดังสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๕.๓
นโยบายชาติประชานิยมแท้ถ้าหากว่านำมาใช้จริงก็สามรถพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมให้เติบโตและ ยั่งยืนอย่างพอดี และเป็นธรรมมากกว่า นโยบายเสรีนิยมใหม่ซึ่งหลีกไม่พ้นที่จะสร้างปัญหาสังคมในด้านคนว่างงานเพิ่มขึ้น ช่องว่าง ระหว่างคนจนคนรวยเพิ่มขึ้น ปัญหาอาชญากรรมเพิ่มขึ้น การขาดดุลการค้า การขาดดุลชำระเงิน เงินเฟ้อ และหนี้ต่างประเทศเพิ่ม ในที่สุดก็ต้องกู้เงิน จาก ไอเอ็มเอฟ มาแก้ปัญหาและต้องรับเงื่อนไขขายชาติ ขายประชาชน ขายทรัพย์สิน และทรัพยกร ของแผ่นดินให้ต่างชาติไปหมด
หนังสืออ้างอิง
DeRosa, Mike. 2003. “ The Bush-Venezuelan Coup: One Year Later”. The Connecticut Green Party. 28 March 2003.
Ellsworth, Brian. 2004. “Chavez’s Social Reforms Impress American Liberals U.S.’’ . Sun-Sentinel. 6 October 2004.
Marquez, Humberto. “Chavez to Further Strengthen Social Reforms”. Third World Resurgence 169-170 : pp. 42-43.
Web site:
http://www.alternet.org
http://www. Ctgreens.org
http://www.embavenez-us.org
http://www.globalpolicy.org
http://www.handsoffvenezuela.org
http://www.infoplease.com
http://www.marxist.com
http://www.redpepper.org.uk
http://www. Venezuelanalysis.com
http://www.vheadline.com
วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น