วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ร่วมหยุดแปรรูปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมหยุดแปรรูปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กมล กมลตระกูล
การคอรัปชั่นทางนโยบายเป็นตราบาปของสังคมไทยมานาน และมาทวีความรุนแรงสูงสุดในยุครัฐบาลทักษิณ โดยมีตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือการแปรรูปการท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการสนามบินสุวรรณภูมิอัปยศที่เป็นมรดกบาปให้คนไทยต้องอับอายขายหน้าไปทั่วโลกอีกไม่ต่ำกว่า 100 ปี จนกว่าสนามบินจะพัง และจะต้องถมเงินลงไปอีกมากกว่าสร้างสนามบินใหม่อีก 2-3 สนามในระยะยาว
ร่างพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กำลังพิจารณากันอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้จะกลายเป็น “มรดกบาป” อีกชิ้นหนึ่งที่จะสร้างความหายนะให้กับสังคมไทยอย่างไม่มีทางเยียวยาได้อีก เพราะว่าสถาบันและทรัพย์สินที่เป็นป้อมปราการทางปัญญาของชาติจะถูกแปรรูปเป็นองค์กรธุรกิจที่แสวงหาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ใจกลางเมืองที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท แทนที่จะเป็นป้อมปราการทางปัญญาที่มีจุดมุ่งหมายรับใช้คนทั้งชาติทางด้านให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมกันเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีปัญญาและคุณธรรมให้กับสังคม
หลักการและเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุว่าต้องการปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัว มีคุณภาพและประสิทธิภาพและความเป็นเลิศทางวิชาการ
หลักการและเหตุผลนี้ขาดประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การให้บริการการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงการหากำไร เพราะว่าทรัพย์สินและงบประมาณนั้นมาจากเงินภาษีอากรของประชาชน ประสิทธิภาพและความเป็นเลิศของคนกลุ่มน้อยหรือ อภิสิทธิ์ชนที่มีโอกาสมีแต่จะสร้างช่องว่างและความแตกแยกในสังคม ความเท่าเทียมทางการศึกษาจึงควรจะเป็นเหตุผลหลัก ถ้าหากว่าจะมีการแปรรูปกัน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความพร้อมที่สุดที่จะนำรายได้และที่ดินมาพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและพัฒนา(R&D)แห่งชาติเพราะว่ามีความพร้อมที่สุดทั้งด้านบุคคลากร รายได้ และพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในวิสัยทัศน์ของร่างพ.ร.บ.นี้ มีแต่คิดจะนำที่ดินมาให้เอกชนหารายได้เชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ยังไม่มีการพูดถึงหลักการสวัสดิการและผลตอบแทนของอาจารย์อย่างเป็นธรรมเหมือนอัยการ หรือ ผู้พิพากษา
การเมืองแทรกมหาวิทยาลัย
ร่างพ.ร.บ.นี้ โยงเอาสถาบันที่เป็นปราการทางปัญญาของชาติไปผูกกับการเมือง โดยมอบให้ร.ม.ต.เป็นผู้รักษาการในมาตรา 52 และในมาตรา 15 ยังมอบอำนาจให้การโอนจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของจุฬาฯที่ ต.ปทุมวัน จ.พระนครให้กระทำได้โดยการออกพระราชบัญญัติ
ทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งได้มาจากเงินบริจาคของราษฎรที่เหลือจากสร้างอนุสาวรีย์ พระบรมรูปทรงม้ารวมกับการบริจาคของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 จะต้องกำหนดให้เป็นสมบัติสาธารณะอย่างถาวรคู่กับแผ่นดินไทย มิใช่ให้ถ่ายโอนได้โดยนักการเมือง
มีบทเรียนที่เป็นตราบาปมาแล้วในยุคของรัฐบาลทักษิณคือการออกพ.ร.บ. และ พ.ร.ฎ. ที่ขายชาติขายแผ่นดินหลายฉบับ
ร.ม.ต.นั้น เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางการเมืองและอยู่ชั่วคราว บางคนก็ไม่มีความรู้ทางด้านการศึกษามาก่อนอย่างสิ้นเชิง ถ้าหากว่าให้อำนาจมากำกับมหาวิทยาลัยแล้วอนาคตของชาติมิวังเวงหรือ
ด้านการบริหาร
การกำกับมหาวิทยาลัยควรใช้ระบอบประชาธิปไตยที่โปร่งใสโดยการตั้งสมัชชามหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยอาจารย์และฝ่ายบริหารทุกคนของมหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกและเป็นผู้ใช้เสียงข้างมากเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยมาเป็นฝ่ายบริหาร โดยการกำหนดบรรทัดฐานและคุณสมบัติของนักบริหารมืออาชีพมาใช้และไม่จำเป็นต้องเป็นคนในมหาวิทยาลัย และไม่จำเป็นต้องใช้ดุษฎีบัณฑิตเป็นคุณสมบัติ เพราะว่าการบริหารกับปริญญาเอกเป็นคนละเรื่องกัน และได้สร้างปัญหามาก่อน เช่น ให้ นักสังคมศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักบัญชีสถาปนิก หมอ นักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรมาเป็นผู้บริหาร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มิใช่นักบริหารที่เรียนมาทางบริหารองค์กร มหาวิทยาลัยทุกแห่งจึงไร้ประสิทธิภาพ และด้อยพัฒนา มิใช่ว่าไร้ประสิทธิภาพเพราะว่าอยู่ในระบบราชการอย่างที่ชอบอ้างกัน
สมัชชามหาวิทยาลัยมีอำนาจตรวจสอบและเป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย มิใช่อย่างที่กำหนดไว้ในร่างที่ไม่โปร่งใสทั้งเรื่องกระบวนการคัดเลือกและการตรวจสอบ
ในอเมริกาใช้ระบบประมูลตัวหรือเสนอชื่อซีอีโอที่มีความสามารถ แล้วทาบทามเข้ามาเป็นผู้บริหาร ที่ถูกควรจะต้องแยกการบริหารทั่วไปออกจากการบริหารทางวิชาการ
ปัญหาความล้าหลัง และไร้ประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยไทยที่ผ่านมาเกิดจากการไม่แยกตำแหน่งบริหารออกจากกัน แต่ให้นักวิชาการซึ่งไม่เชี่ยวชาญด้านวิธีบริหารการเงิน การพัศดุ ไม่เชี่ยวชาญด้านการจัดการบุคคลากร ไม่เชี่ยวชาญเรื่องกฏระเบียบ การวางแผนปฏิบัติการ ซึ่งเป็นศาสตร์อีกศาสตร์หนึ่งมาเป็นฝ่ายบริหาร
ในร่างพ.ร.บ.นี้ยังย่ำเท้าอยู่กับที่ โดยกำหนดคุณสมบัติของอธิการบดีไว้ว่าต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาเอกหรือเทียบเท่า แทนที่จะกำหนดจากคุณสมบัติของการเป็นนักบริหารองค์กรที่มีผลงานที่พิสูจน์และเป็นที่ยอมรับมาแล้วอย่างภาคเอกชน
ผมเคยทำงานอยู่ในต่างประเทศ เมื่อมีการเปิดรับสมัครตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงหรือซีอีโอแล้วมีผู้สมัครที่มีปริญญาเอก หรือดุษฎีบัณฑิตสมัครมาแข่งด้วย ทางบริษัทจะจัดลำดับผู้ได้ดุษฎีบัณฑิตไว้รั้งท้ายสุดในการเรียกมาสัมภาษณ์ เพราะเขาพิจารณาว่า พวกนี้ไม่สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้ อาจจะเก่งแต่ในห้องเรียน หรือในห้องแลป(ทดลองวิจัย)เท่านั้น โดยเฉลี่ยแล้วไม่สามารถจะบริหารองค์กรที่มีบุคลากรมากมายได้ สถาบันการศึกษาไทยจึงล้าหลังในด้านนี้ที่กำหนด คุณสมบัติของอธิการบดีไว้ว่าต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาเอกหรือเทียบเท่า ซึ่งเป็นการล๊อกสเป๊กที่แย่มากเหมือนกับการล๊อกสเป๊กว่า ส.ส จะต้องจบปริญญาตรี
ในมาตรา 72 กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดีเดิมดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก 6 เดือน เมื่อเริ่มใช พ.ร.บ. นี้ ซึ่งหมายความว่าในช่วง 6 เดือนนี้ ผู้บริหารสามารถลงนามทำธุรกรรม หรือทำสัญญาที่มีมูลค่าเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาทได้ ก่อนพ้นตำแหน่ง
กรณีการจัดซื้อรถดับเพลิงฉาวของ ก.ท.ม. อดีตผู้ว่า ก.ท.ม. ลงนามจัดซื้อในวันสุดท้ายที่ตนดำรงตำแหน่งซึ่งสร้างปัญหาและคดียังสอบสวนกันอยู่จนถึงทุกวันนี้
ในมาตรา 19 ไม่มีการกำหนดวาระการพ้นตำแหน่ง กำหนดไว้เพียงดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่อาจได้รับแต่งตั้ง ได้รับเลือกตั้งใหม่อีกได้ ซึ่งหมายความว่าอาจจะผูกขาดไว้ตลอดชีพได้ เพราะก.ม. ไม่ได้ห้ามไว้
ในกรณีพ้นจากตำแหน่งก็ระบุอย่างมีเลศนัย เช่น ต้องเคยถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ซึ่งแปลว่า ถ้าถูกฟ้องคดีแพ่ง คดีฉ้อโกง คดีผิดลูกเมียผู้อื่น(พนักงานสาวของมหาวิทยาลัย) ซึ่งเป็นคดีแพ่งที่ไม่มีโทษจำคุก หรือ ถูกคดีที่ศาลสั่งรอลงอาญา ก็ยังดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปได้
มาตรา 18 กำหนดให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีเพียง 15 คน โดยไม่ได้ระบุชัดเจนแต่บอกไว้เพียงว่าให้เป็นไปตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเขียนไว้อย่างไรก็ได้
สิ่งที่ควรจะกำหนดไว้ คือ กรรมการสภามหาวิทยาลัยจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของอาจารย์ทั้งมหาวิทยาลัยซึ่งประกอบเป็นสมัชชามหาวิทยาลัย
ด้านสิทธิของอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัย
มาตรา 12 กำหนดว่า กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายเงินทดแทน
หากมีการนำ พ.ร.บ. นี้มาใช้ ก็แปลว่า อาจารย์ทุกคนมีสิทธิ์ถูกลอยแพเมื่อไรก็ได้ คนอย่างอาจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ คงจะอยู่ไม่ได้ แม้ว่าต้องการจะอยู่ เพราะขาดกฎหมายแรงงานคุ้มครอง ความเป็นอิสระ และเสรีภาพทางวิชาการ บทบาทของการเป็นผู้นำทางปัญญาของสังคมที่คอยช่วยถ่วงดุลการดำเนินนโยบายที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารก็จะถูกบังคับให้สิ้นสุดลงด้วยการที่ขาด กฎหมายมาคุ้มครอง อาจารย์จะมีสภาพเหมือนอยู่ใน Animal farm หรือสัตว์ในคอกของฝ่ายบริหาร
ด้านการบริหารจัดการทรัพย์สิน
มาตรา 13 กำหนดให้ มหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ ซื้อ ขาย จ้าง รับจ้าง จัดหา โอน รับโอน ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน และจำหน่าย หรือทำนิติกรรมใดๆตลอดจนถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพย์สิทธิ์ต่างๆในทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยหรือมีสิทธิในหรือหาประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและจำหน่ายทรัพย์สินทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร
มาตรา 13 (4) กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินและการลงทุนหรือการร่วมทุน
การกำหนดเช่นนี้หมายความว่ามหาวิทยาลัยสามารถนำอสังหาริมทรัพย์ไปจำนองหรือจำนำหรือค้ำประกันเงินกู้ หรือค้ำประกันการร่วมทุนได้ หากว่าการร่วมทุนนั้นขาดทุน ทรัพย์สินของแผ่นดินก็ถูกยึดออกไปขายถูกๆได้ มีบทเรียนจากการพังพินาศของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเชื้อประทุเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ที่น่าจะได้เรียนรู้และจดจำกัน
มาตรา 13 (8) จัดตั้งหรือร่วมกับบุคคลอื่นในการจัดตั้งองค์กรที่เป็นนิติบุคคล รวมตลอดถึงการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับบุคคลหรือนิติบุคคลใด เพื่อดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการของมหาวิทยาลัยหรือนำผลการค้นคว้าวิจัยไปเผยแพร่ หรือหาประโยชน์เพื่อเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย
มาตรานี้เปิดช่องให้นำทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไปร่วมหารายได้กับบุคคลภายนอกซึ่งเปิดช่องให้มีการคอรัปชั่นได้อย่างกว้างขวาง โดยวิธีการทำนิติกรรมอำพราง
มาตรา 14 เขียนไว้เช่นเดียวกับ พ.ร.บ. องค์การมหาชน คือ รัฐบาลพึงจัดสรรให้แก่มหาวิทยาลัยโดยตรงเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย
แต่ รายได้ของมหาวิทยาลัยไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฏหมายว่าด้วยงบประมาณ
มาตรานี้ได้ซ่อนเงื่อนไว้ให้เกิดการคอรัปชั่นโดยการนำเงินไปใช้จ่ายได้ตามสบายเพราะว่าไม่ต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฏหมายว่าด้วยงบประมาณ เพราะว่า ตามพ.ร.บ.นี้ มหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล รัฐจะเข้ามายุ่มย่ามกำหนดนโยบายไม่ได้อย่างง่ายๆ แต่ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย หรือ ต้องใช้อำนาจศาล
ด้านการตรวจสอบ
ด้านการตรวจสอบ ก็ยังไม่วายมีการวางหมากเอาไว้ โดย มาตรา 48 กำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(ส.ต.ง.) หรือ บุคคลภายนอกซึ่งสภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ประเด็นสำคัญที่หมกเม็ดไว้ คือ หรือ บุคคลภายนอกที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง ไม่จำเป็นต้องเป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ได้ ทั้งนี้เพราะเขียนไว้ให้เลือกใช้มิใช่บังคับไว้ว่าต้องให้ส.ต.ง. เป็นผู้ตรวจสอบ ดังนั้นจึงเปิดช่องให้จ้างสำนักบัญชีที่มีความสัมพันธ์กับฝ่ายบริหารมาเป็นผู้ตรวจสอบ แล้วจะได้ความจริงออกมาได้อย่างไร
สรุป
ทางออกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการปรับปรุงประสิทธิภาพและความเป็นเลิศใน พ.ร.บ.ใหม่ คือ
1.จะต้องกำหนดให้ กรรมสิทธิ์ทุกประการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นของรัฐอย่างถาวร และตลอดไป มิใช่เป็นนิติบุคคล หรือ องค์การมหาชน
2. ส่วนด้านการบริหารก็ใช้วิธีการของระบอบประชาธิปไตยโดยการให้อาจารย์และฝ่ายบริหารทั้งมหาวิทยาลัยเป็นสมาชิกสมัชชาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเป็นผู้เลือกอธิการบดี เลือก กรรมการสภา และเลือกกรรมการตรวจสอบการเงิน กรรมการประเมินผลงาน และกรรมการอื่นๆ
3.ส่วนรายได้ที่เหลือจากการพัฒนาด้านการศึกษา การอุดหนุนการวิจัย การอุดหนุนนิสิตก็ต้องส่งเข้าคลัง
4. เกณฑ์ของเงินเดือนของอาจารย์ควรจะเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ของอัยการ หรือ ผู้พิพากษาแทน
5. มหาวิทยาลัยควรขยายพื้นที่สร้างห้องทดลองและรับงานวิจัยและทดลอง(R&D)จากภาคเอกชนเพื่อนำรายได้เข้ามหาวิทยาลัยและจ่ายผลตอบแทนให้อาจารย์และพนักงานอย่างเป็นธรรมกับสมกับความเป็น “มันสมอง” ของชาติ โดยเฉพาะใน ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี่ชีวภาพ ฯลฯ เพื่อจะได้กลายเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศทางด้านอุตสาหกรรมและด้านเทคโนโลยี่อื่นๆ
6. การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ควรสร้างเป็นเมืองมหาวิทยาลัย (University town ) ที่เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น ถนนหนังสือ โดยคิดค่าเช่าถูกๆให้กับสำนักพิมม์มาเปิดร้านเพื่อขายหนังสือในราคาถูก เพราะปัจจุบันร้านหนังสือถูกผูกขาดไปแล้ว สำนักพิมพ์เล็กๆอยู่ไม่ได้ นอกจากนี้ก็ควรจะส่งเสริมธุรกิจหรือสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับ การวิจัยและทดลอง (R&D) ด้วย มิใช่ธุรกิจฟุ่มเฟือยและการบันเทิงอย่างที่เป็นอยู่

ไม่มีความคิดเห็น: