การศึกษาออกนอกระบบคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน
กมล กมลตระกูล
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม( International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights – ICESCR ) ได้รับการรับรองจากสมัชชาองค์การสหประชาชาติ เมื่อ วันที่ 16 ธันวาคม 1966 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 3 มกราคม 1976 กติกานี้มีทั้งหมด 31 มาตรา ประเทศไทยให้สัตยบรรณเมื่อ 5 ธันวาคม 2542 (1999)
ความสำคัญของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คือ การระบุไว้อย่างชัดเจนถึง “พันธะ” และ “ภาระหน้าที่” ของรัฐที่ต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้มากที่สุดเพื่อมาจัดสรรให้สิทธิต่างๆที่กล่าวไว้ในกติกานี้บรรลุผลเป็นจริงอย่างเป็นขั้นตอน รวมทั้งการออกกฏหมายมารองรับด้วย
มาตราที่ 13 ของกติการะหว่างประทศฉบับนี้ ได้รับรองว่าสิทธิได้รับการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชนด้านหนึ่งที่รัฐมี “พันธะ” และ “ภาระหน้าที่” ที่ต้องจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้มากที่สุดเพื่อมาจัดสรรให้สิทธิดังกล่าวนี้บรรลุผลเป็นจริงอย่างเป็นขั้นตอน รวมทั้งการออกกฏหมายมารองรับด้วย
นอกจากนี้ใน มาตราที่ 15 ได้ระบุถึงสิทธิได้เสพย์วัฒนธรรมและได้ใช้ประโยชน์จากก้าวหน้า ทางเทค โนโลยี่ และผลของการพัฒนา ซึ่งครอบคลุมถึงองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ศิลปและวัฒนธรรมรวมทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึง แต่ถ้าหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษา สิทธิในการเสพย์วัฒนธรรมก็พลอยถูกละเมิดไปด้วย
ข้ออ้างที่ไร้ตรรกวิทยา
ข้ออ้าง ข องนายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า การนำมหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการก็เพื่อความคล่องตัวและเป็นอิสระในการบริหารจัดการให้เบ็ดเสร็จภายในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเอื้ออำนวยสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ
ข้ออ้างนี้เป็นการประนามระบบราชการทั้งหมดว่าไร้ประสิทธิภาพ ขาดความคล่องตัว ไม่เอื้อต่อการพัฒนา ถ้าหากว่าข้ออ้างนี้ฟังขึ้น ก็ต้องยุบหน่วยราชการทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กระทรวง ทบวงกรม และกอง ทั้งหมด เช่น ระบบตุลาการ ใช่ไหม ทำไมนายวิจิตร ศรีสอ้าน จึงไม่เสนอปฏิรูประบบราชการทั้งหมดถ้าหากเห็นว่าเป็นปัญหาของชาติ หรือเสนอให้กองทัพ หรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ ศาลสถิตย์ยุติธรรมออกจากออกจากระบบราชการเพื่อความคล่องตัวครับ
ใครไม่อยากอยู่ก็ควรออกไป
ผู้ที่สนับสนุนออกนอกระบบ เช่น อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศษสตร์ ควรจะลาออกและขับตัวเองออกนอกระบบไปทำงานให้มหาวิทยาลัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพและความคล่องตัว หรือ ออกไปตั้งมหาวิทยาลัยใหม่เหมือนมหาวิทยาลัยมหานครที่มีคณาจารย์ลาออกจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี่ของรัฐออกไปก่อตั้ง ทำไมจึงต้องหอบหิ้วเอาสมบัติของชาติและสมบัติของพระมหากษัตริย์ออกไปกับตัวเองไปบริหารด้วย
สมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ้าประเมินทรัพย์สินในวันนี้ แล้วอาจจะมีมูลค่าเป็นแสนล้านบาท ขนาดยังไม่ได้ออกจากระบบราชการยังมีการนำไปเซ็งลี้ให้เอกชนทำมาหากินอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คือ สยามสแควร์ และมาบุญครอง โดยไม่มีการเปิดเผยรายรับที่แท้จริงว่าหายไปไหน และสัญญาให้เช่านั้นเป็นธรรมกับทรัพย์สินของชาติหรือไม่ มีการตรวจสอบหรือไม่ว่ามีใครรับเงินใต้โต๊ะก้อนโตไปหรือไม่
ถ้าหากออกนอกระบบแล้วอำนาจการบริหารไปอยู่ที่ผู้บริหารชุดใหม่ที่มีอิสระและความคล่องตัว อะไรจะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของชาติ มีหลักประกันอะไรบ้างว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
การศึกษาคือสิทธิมนุษยชนและเป็นพันธกิจของรัฐ
เนื่องจากประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียภาษีที่นำมาเป็นงบประมาณการศึกษา จึงไม่ควรมีการเก็บภาษีซ้ำซ้อนอย่างที่ ดร .สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ .) กล่าวว่า ปีการศึกษา 2550 มธ.จะมีการปรับเพิ่มค่าเทอมร้อยละ 20 เนื่องจาก มธ .มีต้นทุนด้านการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ และ 10 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยมีการปรับเพดานค่าเทอม
"ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มธ .ไม่เคยมีการปรับขึ้นค่าเทอม แต่ในปี 2550 นี้ มธ .มีความจำเป็นต้องขึ้นค่าเทอม เพราะขณะนี้มีต้นทุนสูงด้านการจัดศึกษาค่อนข้างสูง เช่น คณะวิทยาศาสตร์ เราจะต้องมีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย เป็นต้น จริง ๆ การขึ้นค่าเทอมขึ้นอยู่กับต้นทุนและภาวะเงินเฟ้อ ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ออก" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว
พูดแค่นี้ก็เห็นใส้และธาตุแท้ของอธิการบดีผู้สนับสนุนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว คือมองการศึกษาเป็นเรื่องเซ็งลี้ เป็นเรื่องกำไร ขาดทุน คุ้มทุน ต้นทุน ปรับตามภาวะเงินเฟ้อ
อาจารย์สุรพลเป็นถึงด๊อกเตอร์ คิดไม่ได้หรือ ว่าการใช้กรอบคิดเรื่องต้นทุน กำไร ขาดทุน และปรับตามอัตราเงินเฟ้อ นั้น เป็นเรื่องทางธุรกิจ ที่ใช้ต้นทุนของนายทุนหรือเงินกู้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเขาลงทุนเพื่อค้ากำไร เช่นมหาวิทยาลัยมหานคร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แต่ระบบการศึกษาของชาติเงินทุนนั้นคือภาษีอากรของประชาชนที่จ่ายให้รัฐล่วงหน้าเพื่อนำมาใช้อำนวยการศึกษาให้เจ้าของเงินที่เขาไม่ได้คาดหวังกำไร แต่เขาคาดหวังว่าลูกหลานของทุกคนที่จ่ายภาษีอันได้แก่คนยากคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่และเป็นผู้แบกรับภาษีทางอ้อมทั้งปวงจะไม่ถูกกีดกันออกไปจากระบบการศึกษาด้วยค่าเทอมทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นค่าธรรมเนียมสารพัด หรือ ค่าหน่วยกิตของการศึกษาภาคพิเศษที่โขกสับนักศึกษาในทุกวันนี้ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย หากมีโอกาสได้รับรู้ถึงระบบการเก็บค่าเทอมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ท่านคงร่ำไห้น้ำตาเป็นสายน้ำแน่ เพราะธรรมศาสตร์ในวันนี้ได้ทรยศต่อหลักการที่ท่านก่อตั้งขึ้นมาให้เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชนของสามัญชนที่เป็นชนส่วนใหญ่
นักศึกษาในยุคก่อนเหตุการณ์ตุลาคมมหาปิติปี 2516 ต่างมีจิตสำนึกและเข้าใจสิทธิของตน เมื่อมหาวิทยาลัยขึ้นค่าหน่วยกิต หรือ รถเมล์ขึ้นราคา เขาก็ลุกขึ้นประท้วง ออกเดินขบวนประท้วง ผิดกับนักศึกษายุคนี้ ซึ่งถูกอบรมมาให้เป็นแมวเชื่อง หรือวัวที่พร้อมจะให้ผู้บริหารที่ฉ้อฉลสนตะพายไปทางไหนก็ได้ ( ระบบโซตัส ระบบเชียร์ จึงฟื้นชีพขึ้นมามอมเมานักศึกษาให้สนุกเข้าไว้)
การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบซึ่งจะทำให้การศึกษามีราคาแพง กีดกันคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของชาติออกจากระบบการศึกษา และรับใช้เฉพาะลูกหลานของอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น คือ การทรยศต่อสัญญาประชาคม เป็นการทรยศต่อ ประชาชน หรือทรยศต่อชาติ(น่าจะจับไปไถนาสักปี) เช่นเดียวกับการที่ทหารหนีทัพในยามศึก หรือตำรวจหลบไม่ยอมจับผู้ร้ายที่ทำความผิดซึ่งหน้า หรือผู้พิพากษาไม่ตัดสินลงโทษผู้ผิด ฉันใดฉันนั้น
นอกจากนี้ เสรีภาพทางวิชาการก็จะหมดไปเมื่ออาจารย์ต้องกลายมาเป็นลูกจ้างที่ไม่มีหลักประกัน ความเป็นปัญญาชนจะถูกแทนที่ด้วยการเป็นผู้ขายแรงงานทางปัญญา หรืออาจารย์บางส่วนก็จะกลายเป็นนักธุรกิจการศึกษา ซึ่งเป็นอันตรายต่ออนาคตของชาติเป็นอย่างยิ่ง
ประเทศที่มีการพัฒนาสูงและเร็ว มีปัญหาอาชญากรรมน้อย มีปัญหาสังคมน้อย มีปัญหาคอรัปชั่นน้อยล้วนมีระบบการศึกษาที่ฟรี หรือ เกือบฟรี เช่นประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศ สแกนดิเนเวีย สิงค์โปร์ ที่เยอรมัน เรียนฟรีถึงขั้นปริญญาเอกด้วยซ้ำ มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่คิดและปล่อยให้มีการหากินขูดรีดนักเรียนนักศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อมทุกวันนี้
มหาวิทยาลัยของรัฐในอเมริกา เช่น ยูซีเบิร์กเลย์ ยูซีแอลเอ ยูซีซานดิเอโก และยูซีเดวิส มีชื่อเสียงและได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียง เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เอ็มไอที สแตนฟอร์ด ยูออฟชิคาโก แต่คิดค่าเล่าเรียนถูกกว่าหลายเท่า นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยประภท สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ และ ซิตี้ คอลเลจ อีกมากมายทุกรัฐทุกเมืองที่คิดค่าเล่าเรียนถูกมารองรับผู้ด้อยโอกาสอย่างพอเพียง
มหาวิทยาลัยของรัฐในอเมริกาเขาไม่ให้นักวิชาการ(เกิน)บริหาร แต่เขาใช้วิธีประมูลตัวซีอีโอของบริษัทเอกชนมาบริหาร โดยการแยกผู้บริหารฝ่ายวิชาการออกจากด้านบริหารทั่วไป มหาวิทยาลัยของรัฐจึงมีคุณภาพ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยไทยออกนอกระบบแล้วยังให้นักวิชาการที่ไม่ได้เรียนด้านบริหารมาบริหาร ก็จะแย่กว่าเดิมอีก ปัญหาหลักจึงไม่ใช่อยู่ที่การออกนอกระบบแต่แก้ได้ด้วยการแก้ระเบียบและวิธีบริหารมากกว่า
ปัญหาความไม่คล่องตัว และไม่มีประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องความ “งี่เง่า” ของผู้บริหารที่เป็นนักวิชาการและบริหารงานไม่เป็นแต่ไม่ยอมรับความจริง บวกกับความละโมภคือปัญหาที่แท้จริงและเป็นประเด็นหลักที่ต้องแก้ครับ
น.พ.ประเวศ วะสี ก็ยืนยันปัญหาดังกล่าวนี้ดังนี้ “การบริหารมหาวิทยาลัยที่ทำอยู่ในขณะนี้คือการบริหารกฎหมาย และกฎระเบียบ ไม่ใช่การบริหารวิชาการ เห็นได้ชัดเพราะกฎระเบียบเยอะมากจากองค์กรต่างๆ ที่ใส่เข้ามา ทั้ง ระเบียบ กพ. ระเบียบกระทรวงการคลัง ระเบียบสำนักนายกฯ แต่อาจารย์เป็นนักวิชาการ จะไม่เข้าใจ ชำนาญระเบียบต่างๆ เหล่านี้ ขณะที่ต้องมาดำรงตำแหน่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทำให้หมดกำลังอาจารย์ไปเยอะ และก็ทำอะไรไม่ค่อยได้ดี เพราะผู้บริหารต้องเสียเวลากับการประชุมต่างๆ ดังนั้น ต้องปรับการบริหารมหาวิทยาลัยใหม่ มาเป็นการบริหารวิชาการให้ได้ ไม่เช่นนั้นมหาวิทยาลัยจะถูกลูกตุ้มถ่วงหมดเวลาไปกับการสอน”
ที่สิงค์โปร์ ร้อยละ 80 ของนักศึกษาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยล้วนได้รับทุนการศึกษาโดยไม่ต้องใช้ทุน ประเทศสิงค์โปร์จึงมีบุคคลากรของชาติที่มีคุณภาพไม่แพ้ประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว และสามารถมา “ฮุบ” ประเทศไทยไปได้แล้ว
เมื่อมหาวิทยาลัยไทยออกนอกระบบแล้ว มีหลักประกันอะไรบ้างว่าร้อยละ 80 ของนักศึกษาจะได้รับทุนเรียนโดยไม่ต้องใช้ทุนคืน ท่านรัฐมนตรี วิจิตร ศรีสอ้าน จะตอบได้ไหมครับ
พ.ร.บ.ออกนอกระบบ มีช่องโหว่ให้อำนาจผู้บริหารมากเกินไป
ในมาตรา 18, 27 และ 33) โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขบังคับใดๆ เกี่ยวกับการสรรหา ทำให้ขาดหลักประกันว่ามหาวิทยาลัยที่รัฐยังเป็นเจ้าของนั้นจะมีความโปร่งใสและยึดหลักบริหารธรรม (good governance) ที่เข็มแข็งและมีความโปร่งใส การกำหนดที่มาและกระบวนการการสรรหาผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยของรัฐมีความสำคัญยิ่งเพราะจำเป็นต้องเป็นไปอย่างเปิดเผยและได้รับความศรัทธาว่าจะนำไปสู่การยึดมั่นในผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชนอย่างแท้จริง จึงควรมีการระบุให้การสรรหามีกระบวนการที่ชัดเจน ปราศจากการครอบงำและมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การสรรหาโดยอย่างเคร่งครัด โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย ใน มาตรา 13 (4) ของ พ.ร.บ. ออกนอกระบบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดช่องให้มีการร่วมทุนและกู้ยืมเงินจากภายนอกได้ โดยไม่มีข้อบังคับที่ชัดเจนในการป้องกันมิให้ใช้เครื่องมือทางเงินแปรรูปมหาวิทยาลัยไปสู่รูปแบบอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ของการเป็นสถาบันการศึกษาของชาติ การกู้ยืมนั้นอาจเป็นเครื่องมือที่สามารถผลักภาระไปให้นิสิตในอนาคตรับภาระในรูปของค่าเทอม ค่ารรมเนียม ค่าหน่วยกิต ได้ง่ายจึงควรกระบวนการพิจารณาที่รอบคอบ สำหรับเรื่องการลงทุนและการร่วมลงทุน
ระบบบัญชีควรจะต้องเปิดเผยและให้สาธารณะชนตรวจสอบได้ตลอดเวลา มาตรา 29และ34 อธิการบดี (และคณบดี) ควรพ้นจากตำแหน่งถ้ามีอายุเกินกำหนด 60 ปี ทั้งนี้เพราะเป็นตำแหน่งงานบริหารที่ต้องการบุคคลทำงานเต็มเวลา จึงไม่ควรมีอายุการทำงานนานเป็นพิเศษกว่าคณาจารย์ประจำหรือบุคลากรประเภทอื่นของมหาวิทยาลัย มาตรา 36 เนื่องจากระดับคณะไม่มีสภาคณาจารย์คณะกรรมการบริหารจึงควรมีสัดส่วนผู้แทนคณาจารย์ประจำคณะที่มากเพียงพอเพื่อป้องกันมิให้การบริหารถูกรวมศูนย์จนขาดการแนะนำท้วงติงหรือขาดการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ จากทุกคณะ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นเป็นเวลานานก็จะส่งผลให้องค์กรมีความอ่อนแอ ขาดความเป็นธรรมและขาดความสามัคคี
ทางออกของมหาวิทยาลัยของรัฐ
1. ใครอยากออกจากระบบราชการก็ควรออกไปแต่ตัวไปสู่ที่ชอบๆ เช่นไปทำงานรับใช้มหาวิทยาลัยต่างชาติ ทำงานกับมหาวิทยาลัยเอกชน หรือ หาเงินตั้งมหาวิทยาลัยกันเอง แต่ อย่าเอามหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสมบัติของชาติออกไปด้วย
2. ควรจะแยกคณะสาขาวิชาที่ลงทุนสูงออกไปแล้วคิดค่าเล่าเรียนตามต้นทุนที่แท้จริง เช่นด้านวิทยาศาสตร์ ด้าน เทคโนโลยี่ ด้านการแพทย์ หรือ ด้านวิศวกรรม ซึ่งผลิตบุคคลากรไปป้อนภาคธุรกิจ หรือ ออกไปทำงานต่างประเทศ โดยใช้เงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศนั้นไม่เป็นการยุติธรรม สำหรับนักศึกษาที่ต้องการทุนโดยไม่ต้องใช้คืนก็ให้ทำสัญญาผูกมัดว่าเมื่อจบแล้วต้องทำงานราชการ หรือ องค์กรการกุศล หรือ องค์การเอ็นจีโอ เป็นเวลา 5 ปี เหมือนนักศึกษาแพทย์ที่จบแล้วต้องรับราชการใช้คืนทุนก่อน
3. แยกผู้บริหารด้านวิชาการ ออกจากผู้บริหารด้านทั่วไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารโดยผู้ที่เรียนมาทางด้านบริหาร หรือ มีประสบการณ์มาก่อน แบบเดียวกับในอเมริกา
4. เพิ่มเงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยในอัตราเดียวกับอัยการ หรือ ผู้พิพากษา โดยไม่ต้องออกนอกระบบ เพราะว่าเมื่อออกนอกระบบแล้ว รัฐจะแทรกแซงกำหนดทิศทางหรือนโยบายไม่ได้ เหมือนกับรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรรูปออกไปแล้ว เช่น ป.ต.ท. ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่คานอำนาจบริษัทต่างชาติในการกำหนดราคาน้ำมันที่เหมาะสมอีกต่อไป รถไฟฟ้า รถใต้ดิน หรือ ค่าทางด่วน ก็เป็นลักษณะเดียวกัน คือ บริหารงานเพื่อผลกำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินลงทุน
5. ยกเลิกระบบกู้เงินเรียน แต่ใช้ระบบให้ทุนแบบสิงค์โปร์ โดยการคัดเลือกและให้มีการแข่งขัน นักศึกษาที่เกียจคร้านหรือไม่รักเรียน ไม่รักความก้าวหน้าก็ต้องถูกกันออกไปเรียนระดับอาชีวะ หรือ ระดับต่ำกว่านั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับมหาวิทยาลัย
6. ให้รัฐเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าแบบในอเมริกาเพื่อนำเงินมาเป็นงบประมาณการศึกษาทั้งระบบ
7. รัฐบาลต้องจัดให้มีการสัมมนาระดับชาติครั้งใหญ่เพื่อสังคายนาระบบการศึกษาขั้นอุดมศึกษาทั้งระบบเพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายว่าสร้างบุคคลกรประเภทไหนมาร่วมกันสร้างชาติ คณะสาขาวิชาที่ลงทุนสูงใครควรจะเป็นผู้รับภาระ เช่นด้านวิทยาศาสตร์ ด้าน เทคโนโลยี่ ด้านการแพทย์ หรือ ด้านวิศวกรรม ซึ่งผลิตบุคคลากรไปป้อนภาคธุรกิจ หรือ ออกไปทำงานต่างประเทศ อันที่จริงสาขาเหล่านี้สามารถบริหารจัดการให้รับงานภายนอกมาสร้างรายได้คืนให้มหาวิทยาลัยได้
วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น