ยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติกับหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองวิถีชีวิตชุมชน
กมล กมลตระกูล
อ้างการค้าเสรีเพื่อยึดครอง
วิกฤติเศรษฐกิจและการล้มละลายของประเทศอาเยนตินาซึ่งเคยติดอันดับ 1 ใน 20 ประเทศแรกๆที่ร่ำรวยที่สุดในโลกนั้น มีสาเหตุหลักมาจากการเปิดเสรีประเทศตามวาระขององค์การเงินการเงินระหว่างประเทศ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนอย่างไร้ระเบียบ การยกเลิกกฏเกณฑ์การควบคุมการเข้ามาซื้อกิจการ หรือ การลงทุนของบริษัทข้ามชาติ การยกเลิกกฏเกณฑ์การควบคุมการโยกย้ายเงินตราเข้าออกนอกประเทศ
ด้วยนโยบายข้างต้น ทำให้รายได้ของรัฐน้อยลง ธุรกิจของชาวอาเยนตินาล้มละลาย หรือ ถูกซื้อไปหมดด้วยทุนที่ข้ามชาติที่เหนือกว่า เกิดปัญหาขาดดุลย์ชำระเงินระหว่างประเทศ
บทเรียนของอาเยนตินาจึงเป็นบทเรียนที่น่าศึกษาอย่างลึกซึ้งเพื่อไม่ให้ประเทศไทยซึ่งกำลังดำเนินนโยบายเช่นเดียวกันกับอาเยนตินาตามการบีบบังคับและกดดันโดยองค์การเงินระหว่างประเทศ สมาคมหอการค้าต่างประเทศ และสถานทูตต่างประเทศ ซึ่งต้องการเจาะกำแพงเมืองให้กับบริษัทข้ามชาติเข้ามาเขมือบผลประโยชน์ได้อย่างสะดวกโยธิน อย่างไร้จริยธรรม และศีลธรรม เพระไม่ได้คำนึงถึงความอยู่รอดของประชาชน และชุมชนของประเทศเจ้าบ้านเลย
กรณีการเข้ามารุกรานของเครือข่ายยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ บริษัทแฟรนไชส์ บริษัทขายตรง และการบังคับใช้ในเรื่องสิทธิบัตรอย่างไร้ความเป็นธรรมนั้น อาจจะนำประเทศไทยลงเหวอย่างประเทศอาเยนตินา ถ้าหากว่า คนไทย นักการเมอง และข้าราชการไทยยังเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ และปฏิบัติตนเป็นเสมือนสมุนกินน้ำข้าวของบริษัทข้ามชาติ
กรณีศึกษาของการเข้ามารุกรานความอยู่รอดของตลาดสดนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายๆตัวอย่างของยุทธศาสตร์การเขมือบชาติของบริษัทข้ามชาติ
ยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติซึ่งมีเงินทุน ประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการ และการตลาด รวมทั้งวิธีการปัดภาระค่าใช้จ่ายมาให้กับผู้ผลิตสินค้า กำลังรุกเข้ายึดหัวหาดการค้าปลีกในขอบเขตทั่วประเทศในทุกชุมชน วิถีชีวิต วิถีเศรษฐกิจชุมชน วิถีสังคมแบบเอื้ออาทรของผู้ซื้อกับผู้ขายซึ่งตั้งอยุ่บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจฉะนท์เพื่อนบ้าน ฉันท์พี่น้อง ซึ่งเชื่อของเชื่อสินค้าไปกินไปใช้ก่อนได้ สิ้นเดือนเมื่อเงินเดือนออกค่อยมาจ่าย หรือ หักหนี้กัน สิ่งเหล่านี้กำลังจะหมดไป และถูกแทนที่ด้วยระบบบัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยมหาโหด และใช้วิธีการทวงหนี้แบบมาเฟียจนมีลูกหนี้เกิดความเครียดและฆ่าตัวตายไปแล้วหลายราย
ต่อไปบรรดาข้าราชการชั้นผู้น้อย หรือ คนจน ถ้าหากว่าไม่มีเงินติดกระเป๋าก็ต้องไม่กิน ทนอดอยากจนกว่าจะขาดใจตายไป
ในวันเทศกาลฝรั่งถ้าร้านค้าเหล่านี้ปิดหมด คนไทยก็จะต้องอดกินอดใช้ เพราะร้านค้าย่อยถูกรุกรานให้เจ๊งไปหมดแล้ว
ประเทศไทยกำลังติดเชื้อโรค “การค้าเสรี” ซึ่งถ้าวิเคราะห์กันให้ถึงที่สุดแล้ว มีอันตรายเสียยิ่งกว่าโรคอัน แทร๊กซ์ และ โรคเอดส์เสียอีก ทั้งนี้เพราะว่า การดำเนินนโยบายการค้าเสรีอย่างหลับหูหลับตานั้นมีอันตราย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีมากมายมหาศาลกว่าคนติดโรค
จะต้องมีการทำความเข้าใจกันว่า ความหมายและกรอบคิดของคำว่าการค้าเสรีนั้นไม่ได้หมายความว่าการค้าที่ไม่มีกติกา หรือ การค้าที่ไร้ระเบียบ และไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศขาดอำนาจในการกำหนดกติกาให้การค้ามีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม มิใช่ปล่อยให้ปลาใหญ่กินปลาเล็กได้อย่างตามใจชอบ การค้าเสรีในความหมายทางสากลที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วดำเนินการนั้น ไม่ได้หมายความว่า รัฐจะต้องขึ้นต่อ หรือปล่อยปละละเลยให้ธุรกิจต่างๆกระทำการตามอำเภอใจ
หลักการของการค้าที่ถูกต้อง คือ การค้าเป็นธรรม (Fair trade) ซึ่งคู่ค้า และผู้บริโภคต่างได้รับประโยชน์ หรือได้รับการบริการในราคาเหมาะสม เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันเพื่อเสนอราคาที่ผู้บริโภคพอใจ หรือการให้บริการที่ประทับใจลูกค้ามากกว่า รวมทั้งการจำกัดการผูกขาดตัดตอน ซึ่งจะนำไปสู่การโก่งราคา หรือ การค้ากำไรเกินควรที่ลูกค้าไม่มีทางเลือก เช่นราคาของซอฟแวร์ หรือราคาค่าใช้ทางด่วน หรือ ค่าไฟฟ้าเป็นต้น
ในอเมริกาเองซึ่งเป็นแม่แบบของการค้าเสรี หรือ หรือ จะเรียกว่า การค้าไร้ระเบียบ ก็ได้ ( Free trade) ยังมีกฏหมาย Anti Trust ออกมาป้องกันการผูกขาด
ในกรณีของกิจการยักษ์ค้าปลีก ก็มีกฏระเบียบของชุมชน และเทศบาลมากมายออกมาคุ้มครองธุรกิจขนาดย่อมให้ดำรงอยู่ได้ เช่น เรื่องการกำหนดเขตการค้า (Zoning) หรือ เรื่องการจราจรที่นำมาจำกัดการขยายตัวในเมืองของธุรกิจเหล่านี้ รวมทั้งระเบียบและกฏเกณฑ์อื่นๆ เช่น การห้ามขายของตัดราคา หรือ ห้ามลดราคาอย่างพร่ำเพื่อ (Dumping) หรือ ห้ามการลดราคาแบบกระหน่ำ ตลอดปี
ในยุโรป เช่น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้น เขาห้ามไม่ให้ห้างสรรพสินค้า และห้างยักษ์ค้าปลีกลดราคาสินค้าเกินปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับร้านค้าย่อย หรือ โชว์ห่วย คือ ลดราคาได้เฉพาะในช่วงฤดูร้อน และคริสมาสได้เท่านั้น
แม้แต่กติกาขององค์การค้าโลกก็มีข้อห้ามนี้ เรื่อง Anti-Dumping หรือ ห้ามการส่งออกสินค้าในราคาต่ำกว่าทุน
ประเด็น “การค้าเสรี” ที่กำลังคุกคามสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ คือ การขยายตัวของเครือข่ายยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ หรือ เป้าหมายอย่างชัดเจนในการเข้ามาแทนที่ หรือ โค่นตลาดสด ตลาดนัด ห้างขนาดกลาง และร้านค้าปลีกที่เรียกกันว่าโชว์ห่วยของคนไทย
ไม่เพียงแต่การคุกคามตลาดสด ร้านค้าย่อย ร้านค้าขนาดกลาง ร้านโชว์ห่วย รวมทั้งยี่ปี๊ว หรือ พ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นวิถีชีวิตของสังคมไทย แต่ยังคุกคามโรงงานอุตสาหกรรมของคนไทยให้กลายเป็นผู้ไร้อำนาจในการต่อรอง กลายเป็นลูกจ้างรับคำสั่งผลิตแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีโอกาสเติบโตและพัฒนาความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมของตนได้อีกต่อไป
ความยิ่งใหญ่ของเครือข่ายยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ
ในบรรดายักษ์ค้าปลีกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ในปัจจุบันที่ใช้นโยบายการบริหารจัดการแบบใหม่ที่ก้าวร้าวเพื่อช่วงชิงความเป็นเจ้า โดยการปัดภาระค่าใช้จ่ายมาที่ Suppliers คือ บริษัทวอล-มาร์ท ของอเมริกา โดยดูดทรัพย์ร้อยละ 14 หรือ 22,730.95 จากการลงทุนในต่างประเทศ ส่วนยอดขายทั้งสิ้นในปี 1999 มียอดสูงถึง 163,532 ล้านเหรียญ หรือ 7.36 ล้านๆบาท ( คิดเป็น 5 เท่าของรายได้จากการส่งออกของไทย) โดยมีสาขามากถึง 4500 แห่ง
กลุ่ม คาร์ฟู ในรายงานของ The European Retail Rankings รายงานว่า (Carrefour Group) ของยุโรป มียอดขาย 52,196 ล้านเหรียญ หรือ 2.34 ล้านๆบาท โดยมีสาขาทั่วโลก มากถึง 9000 แห่ง กระจายตัวอยู่ใน 25 ประเทศ เฉพาะในฝรั่งเศสเองมีสาขามากถึง 3,360 แห่ง ในสเปน 2,711 แห่ง อิตาลี 878 แห่ง เบลเยี่ยม 492 แห่ง กรีซ 351 แห่ง โปรตุเกส 312 แห่ง ตุรกี 70 แห่ง โปแลนด์ 55 แห่ง สวิสเซอร์แลนด์ 11 แห่ง
ในทวีปอเมริกา คาร์ฟูขยายสาขาไปมากถึง 630 แห่ง คือ อาเยนตินา 377 แห่ง บราซิล 199 แห่ง เมกซิโก 19 แห่ง ฯลฯ
รายได้จากนอกประเทศของคาร์ฟูคิดเป็นร้อยละ 37.70 ของรายได้ทั้งหมด
ในทวีปเอเชียคาร์ฟูขยายสาขาไปใน 8 ประเทศ ได้แก่จีน 30 แห่ง ไต้หวัน 25 แห่ง เกาหลี 23 แห่ง ไทย 15 แห่ง อินโดนีเชีย 9 แหาง มาเลเซีย 6 แห่ง และญี่ปุ่น 3 แห่ง
กลุ่ม เทสโก ของอังกฤษมียอดขายคิดเป็นอันดับที่ 15 ของโลก โดยมียอดขาย 30,404 ล้านเหรียญ หรือ 1.36 ล้านล้านบาท (เท่ากับรายได้จากการส่งออกทั้งปีของไทย) กลุ่มเทสโกเป็นกลุ่มทุนข้ามชาติที่มาแรงที่สุด และก้าวร้าวที่สุดในการเจาะพื้นที่ใจกลางเมือง โดยเปิดสาขามากถึง 36 แห่งทั่วประเทศแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2544 และมีแผนที่จะขยายอย่างต่อเนื่องปีละ 6 แห่ง เพื่อครอบคลุมทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย
ข้อที่น่าสังเกต คือ บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทต่างด้าว แต่ทำไมจึงสามารถซื้อที่ดินผืนใหญ่ๆได้
การโจมตีค่าเงินเพื่อทำลายทุนท้องถิ่น
การโจมตีค่าเงินบาท เมื่อเดือน ปี พ.ศ. 2540 ทำให้ค่าเงินบาทลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง จาก 25.50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ มาเป็น 45 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ และราคาที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ลดลงครึ่งหนึ่ง หรือ กว่าครึ่ง ในขณะที่ทุนท้องถิ่นที่เป็นหนี้ต่างชาติ ต้องจ่ายหนี้และดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุนต่างชาติกลับได้กำไร 200 เปอร์เซ็นต์ จากค่าเงินบาทที่ลดลงครึ่งหนึ่ง และราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงอีกครึ่งหนึ่ง
อสังหาริมทรัพย์หรือ ที่ดินที่เคยมีราคา 100 บาท เมื่อภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจราคาตกลงเหลือ 50 บาท ค่าเงินบาทลดลงไปอีกครึ่งหนึ่ง ทุนต่างชาติจึงสามารถซื้อที่ดินที่เคยมีราคา 100 บาท ด้วยเงินเพียง 25 บาท หรือ 1 ใน 4 ของราคาเดิม โดย จ่ายเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น
ดังนั้นทุนค้าปลีกข้ามชาติจึงสามารถกว้านซื้อหาที่ดินทำเลทองใจกลางเมืองผืนใหญ่ในย่านชุมชน ที่ดินในย่านถนนสุขุมวิท ย่านอ่อนนุช ที่ดินในย่านตลาดสดใจกลางเมือง เพื่อสร้างห้างขนาดยักษ์พร้อมที่จอดรถอย่างสดวกมาทำลายร้านค้าย่อย และตลาดสดของคนไทย
ยุทธวิธีแปรรูปนายทุนท้องถิ่นเป็นกรรมกรรายวัน
ยุทธวิธีการของเครือข่ายยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติเหล่านี้ ในการทำลายรากฐานอุตสาหกรรมไทย โดยในระยะยาวแล้วเป็นการ “แปรรูปนายทุนไทยให้กลายเป็นกรรมกรรับจ้างผลิตรายวัน “ คือ การบีบบังคับให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าต้องยอมรับเงื่อนไขของตนซึ่งมีทุนและเครือข่ายมากอย่างเหลือเฟือในการต่อรองด้วยการปัดภาระค่าใช้จ่ายมาให้กับโรงงานผู้ผลิตของคนไทย ซึ่ง คุณ ศิริพร ยอดกมลศาสตร์ และ คุณาธิป แสงฉาย ได้ศึกษาวิจัย ไว้ในบทความ ชื่อ “ยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ กับการ “ฆ่า” ผู้ค้าปลีกรายย่อย “ ( 2544 ) จากทุนผูกขาดสู่ วินาศกรรม, กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง. คือ
1. ค่าแรกเข้า (Entrance fee) ขณะที่เทสโก้โลตัสเรียกเก็บครั้งเดียว เป็นเงิน 20,000-100,000 บาท ต่อ 1 รายการหรือ SKU (Stock Keeping Unit) ต่อสาขา
2. กำหนดอัตราแบ่งผลกำไรขั้นต่ำจากการขายสินค้า (Rebate) เครือข่ายยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้มักเรียกเก็บในอัตรา ประมาณ ร้อยละ 0.5-3.0 ของยอดขายต่อปี โดยโรงงานผู้ส่งต้องประกันยอดอัตราผลกำไรจากการขายขั้นต่ำไว้ในสัญญาด้วย เช่น สัญญากำหนดอัตราผลกำไรจากการขายสินค้าไว้ที่ร้อยละ 2 ของยอดขาย โดยประกันว่าจะขายสินค้าได้ไม่น้อยกว่า 100,000 หน่วยต่อปี ถ้าสินค้านั้นขายได้น้อยกว่า 100,000 หน่วย ก็ต้องจ่ายอย่างน้อย ร้อยละ 2 ของจำนวน 100,000 หน่วย ถ้าขายได้มากกว่า ก็ต้องจ่ายเพิ่มในอัตรานั้นอีก
นอกจากนี้ เรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษจากยอดขายรายเดือนที่ได้ตามเป้าอีกด้วย
3. ค่ากระจายสินค้า (Distribution fee) คือ ค่าใช้จ่ายในการบริหาร และขนส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปยังสาขา เครือข่ายยักษ์ค้าปลีกจะเรียกเก็บค่ากระจายสินค้าจากโรงงานผู้ผลิตคิดเป็นร้อยละของยอดขาย
4. ค่าลงโฆษณา ในแผ่นพับ ใบปลิว หรือ วารสารแนะนำสินค้า ที่วางแจก หรือ จ้างคนแจก หรือ ที่ส่งไปตามไปรษณีย์ เพื่อดึงคนซ้อ หรือ เพิ่มยอดขายให้กับสินค้านั้นๆ เทศโกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้ในอัตรา 35,000 บาท ต่อ 1 รอบของการส่งไปรษณีย์ในทุกๆ 15 วัน บวกด้วยร้อยละของยอดขายอีกตามแต่ที่จะตกลงกัน ส่วนคาฟูร์ เรียกเก็บเป็นร้อยละ 2 จากยอดขาย แต่ถ้าต้องการพื้นที่แสดงวางสินค้าด้านหน้าที่เรียกว่า พื้นที่หัวคิว นั้น คาร์ฟูร์ จะเรียกเก็บเพิ่มอีกร้อยละ 2 ของยอดขาย
5. ค่าการจัดรายการพิเศษ เทสโกจะมีการจัดลดพิเศษสุดๆชนิดที่เห็นราคาแล้วไม่ซื้อก็เปรียบเสมือนการทำบาป โดยจัดปีละ 4 ครั้ง โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่าย จากโรงงานที่เข้าร่วมรายการในอัตรา 250,000 บาทต่อ SKU ต่อปี อัตราค่าใช้จ่ายนี้ ได้รวมการลงโฆษณาในแผ่นพับที่ส่งทางไปรษณี 2 ครั้ง และพื้นที่ในการจัดสินค้าหน้าแถว
ส่วนร้านสดวกซื้อ อย่าง เช่น ร้าน เจ็ด-สิบเอ็ด (7 Eleven) นั้น เรียกเก็บค่าแรกเข้าสูงถึง 100,000-300,000 บาท ต่อสินค้าหนึ่งรายการ รวมทั้งเก็บพิเศษค่าต่างๆข้างต้น และค่าสินค้าชำรุดอีกด้วย
6. หมุนเงินสดจากรายย่อยและรายใหญ่ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยในศูนย์อาหาร รวมทั้งโรงงานที่นำสินค้าไปวางขายในห้างเหล่านี้ จะต้องลงทุนไปก่อนและรับเป็นใบรับสินค้า หลังจากนั้นต้องรอเป็นเวลา 2 อาทิตย์ ถึง 3 เดือน แล้วแต่ห้าง จึงจะไปรับเงินได้ ซึ่งทางห้างสามารถหักเงินออกได้ทุกเมื่อโดยอ้างว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานแล้วเรียกให้มารับสินค้าคืน ถ้าไม่มารับ ก็ถือว่ายอมรับ และห้างจะจัดการกับสินค้าเหล่านั้นอย่างไรก็ได้ นั่นหมายความว่า ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ก็ต้องออกเงินซื้อวัตถุดิบไปก่อน จ่ายค่าจ้างคนงานไปก่อนเป็นเวลา 2-4 อาทิตย์เพื่อให้ห้างได้นำเงินไปหมุน และเมื่อขายได้ห้างก็หักค่าเช่าที่อย่างน้อยร้อยละ 25 ของยอดขายโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย กลายเป็นเสือนอนกิน โดยที่พ่อค้าแม่ค้าต้องแบกรับจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในจำนวนเต็มของยอดขายก่อนหักค่าเช่าที่ (เป็นการโกงค่าแวททางอ้อม) เมื่อรวมกันแล้ว ค่าเช่าที่จึงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 ของยอดขายก่อนหักต้นทุนค่าแรงและค่าวัตถุดิบ
ไม่เพียงแต่แค่นั้น ห้างเหล่านี้ยังบังคับควบคุมราคาขายให้ถูกที่สุดเพื่อเป็นจุดดึงดูดลูกค้ามาเข้าห้างอีกด้วย ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบบรรดาพ่อค้าแม่ค้าอย่างถึงที่สุดแบบกรอบคิดของเจ้าอาณานิคมไม่มีผิด
จากการใช้ความได้เปรียบมาปัดภาระต่างข้างต้นเหล่านี้ให้กับเจ้าของโรงงาน ดังนั้นผลกำไรจึงตกไปเป็นของบริษัทเหล่านี้เป็นส่วนใหญ่ และถูกส่งกลับเข้าประเทศแม่ของตน ทำให้ประเทศขาดดุลย์ชำระเงิน และค่าเงินอ่อนตัว
7. ทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมให้ยักษ์ค้าปลีกสามารถบอกเลิกธุรกิจฝ่ายเดียว
ในระยะยาวแล้ว เจ้าของโรงงานของคนไทยก็ถูก “แปรรูป” เป็นกรรมกรรับจ้างผลิตไปโดยปริยาย
ยุทธวิธีทำลายวิถีชีวิตและการผลิตชุมชน
ยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้ซึ่งมีเงินทุนสูงมักจะไปเลือกทำเลทองในย่านเดียวกันกับตลาดสด เช่น ที่ซอยอ่อนนุช ที่คลองเตย ที่สี่แยกเจริญผล สพานควาย และสามย่าน ฯลฯ ส่วนในต่างจังหวัดก็ดำเนินการเช่นเดียวกัน เช่น ที่จังหวัดสกลนคร ก็ตั้งตรงกันข้ามกับตลาดสดประจำเมือง ซึ่งไม่รู้ว่าเทศบาลอนุมัตไปได้อย่างไร อาจจะได้รับค่านายหน้ากันไปคนละก้อนโตๆ พฤติกรรมเช่นนี้ก็เหมือนกับการ “ขายชาติ” ฉันใดฉันนั้น โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมือง เช่นย่านสุขุมวิทย์ ซึ่งราคาที่ดินเคยแพงกว่าพื้นที่ของธนบัตรที่นำไปปู ก็ยังถูกยึดเพราะค่าเงินที่ถูกไอเอ็มเอฟบีบให้ลดค่า
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ตลาดสดนั้นเป็นวิถีชีวิตของคนไทยและแต่ละตลาดนั้นหล่อเลี้ยงชีวิตเป็นหมื่น หรือ แสนชีวิต คือ เกษตรกรที่ทำการผลิตผักผลไม้หรือขนมป้อนพ่อค้าแม่ค้า รวมทั้งโรงงานขนาดย่อม ยี่ปั๊วหรือ พ่อค้าคนกลางที่พ่อค้าแม่ค้าไปซื้อสินค้ามาขาย
วิถีชีวิตและวงจรเศรษฐกิจชุมชนเหล่านี้จะถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง เพราะตลาด คือ สังคมชุมชนอันอบอุ่นและเอื้ออาทรกันระหว่างพ่อค้าแม่ค้า และผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อกันประจำจนกลายเป็นญาติที่คุยปรับทุกข์ปรับสุขกันได้ ต่อรองราคาสินค้า กันได้ ขอชิมกันได้ แถมสินค้ากันได้ และซื้อเชื่อ(อาศัยความเชื่อถือ) หรือ ค้างชำระเงินกันได้ และนี่คือ วัฒนธรรมไทย วิถีชีวิตไทย หรือ วิถีชุมชนไทยอันเก่าแก่ที่ควรได้รับการพิทักษ์ไว้
คนไทยจะตกงานและหมดอาชีพเป็นแสนเป็นล้านคนถ้าหากรัฐบาลมีหูตาสั้น และติดโรค “ค้าเสรี”(ที่ไร้ความเป็นธรรม) อย่างหลับหูหลับตา โดยลืมคำนึงถึงความอยู่รอดของคนไทยตาดำๆ
ยุทธวิธีการจับเสือมือเปล่า
การขยายสาขาของแต่ละห้างค้าปลีกยักษ์นั้น แต่ละห้างเกือบจะไม่ต้องควักกระเป๋าเลยโดยใช้วิธีการเรียกเก็บเงินจากผู้ผลิตตามรายการต่างๆข้างต้น เช่นค่าแรกเข้า และค่าขยายสาขาใหม่
ตัวอย่าง เช่น การเก็บค่าวางสินค้าตัวละ 1.5 แสนบาท และ ค่าขยายสาขาใหม่รายละ 1-2.5 แสนบาท ถ้าสินค้าในห้างมี 1 หมื่นรายการ ค่าหัวคิวที่ได้ล่วงหน้ามาจากการจับเสือมือเปล่านี้จะเป็นตัวเลขสูงถึง 3-4 พันล้านบาทต่อการขยายห้าง 1 ห้าง
ดังนั้นการขยายห้างแต่ละห้างนั้น ยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้ไม่เพียงแต่ไม่ต้องลงทุนเท่านั้น ยังจะมีเงินหัวคิวเหลือมาดำเนินการหรือ บริหารงานต่อไปอีกด้วย
ดังนั้นห้างเหล่านี้จึงสามารถใช้เงินคนไทยแบบอัฐยายซื้อขนมยายมาจับเสือมือเปล่า แล้วส่งเงินผลกำไรที่แทบจะไม่ต้องขนเงินมาลงทุนกลับไปเลี้ยงบริษัทแม่ในต่างประเทศ
วัคซีนป้องกันโรคการค้าเสรี
วัคซีนในการป้องกันโรคการค้าเสรี คือ รัฐบาลต้องตระหนักในภาระหน้าที่ของตนต่อคนไทยทั้งชาติในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขคนไทยทั้งชาติ มิใช่รับใช้ หรือ เอาใจคนต่างชาติ หรือบริษัทข้ามชาติอย่างหลับหูหลับตาเหมือนชาวเมืองขึ้น โดยถูกมอมเมาล้างสมองด้วยอุดมการณ์ของ ลัทธิ “การค้าเสรี” มาข่มขู่ แต่ว่าในแต่ละประเทศที่พัมนาแล้วนั้นกลับมีมาตรการกีดกันสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาสารพัด เช่นมักจะยกข้ออ้างในเรื่องมาตรฐานสินค้า ความสะอาด ความปลอดภัย หรือ กำหนดโควต้า หรือการให้การอุดหนุนธุรกิจภายในทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
อุดมการณ์ “การค้าเสรี” หรือ “ การค้าไร้ระเบียบ” (Free trade) ในโลกแห่งความเป็นจริง คือ “มาตรฐานสองหน้า” (Double standard) นั่นเอง
อันที่จริงถ้าเป็นการค้าเสรีจริงก็ต้องไม่มีมาตรการเหล่านี้ คือ ถ้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาไม่มีมาตรฐาน หรือ ความปลอดภัยแล้ว ประชาชนของเขาซึ่งมีการศึกษาสูง ก็จะไม่ซื้อเอง สินค้าก็จะขายไม่ได้ แต่รัฐบาลประเทศที่พัฒนาแล้วต้องการกีดกันสินค้าเพื่อคุ้มครองนักธุรกิจ หรือ เกษตรกรของชาติของตนมากกว่า
ตัวอย่าง เช่น ผลไม้สดของไทยไม่สามารถส่งไปขายในอเมริกาได้ โดยใช้ข้ออ้างว่า อาจจะนำแมลงไปแพร่พันธุ์ ทั้งๆที่อเมริกาเป็นประเทศที่ผลิตยาฆ่าแมลงที่ใหญ่และเก่งที่สุดในโลก หรือ สินค้าสิ่งทอ หรือสินค้าเหล็กสำเร็จรูป ก็เจอมาตรการโควต้า ส่วนยุโรปก็กีดกันสินค้าอิเลกโทรนิกส์จากประเทศไทย
ประเทศไทยได้ตั้งกรมส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ให้อภิสิทธิ์บริษัทต่างชาติสารพัด เช่นด้านการผ่อนผันยกเว้นภาษีอากร และภาษีรายได้ รวมทั้งการผ่อนผันให้ซื้อที่ดินได้
ก่อนนายกทักษิณเดินทางไปอเมริกาก็ประกาศนโยบายลดภาษีรายได้ให้กับบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งสำนักงานในเมืองไทยจากร้อยละ 30 เหลือเพียงร้อยละ 10 รวมทั้งการหักภาษีอื่นๆอีกเยอะแยะ
ในขณะที่บริษัทของคนไทยต้องเสียภาษีราย ร้อยละ 30 แต่ต่างชาติเสียเพียงร้อยละ 10 แค่นี้ก็ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และเสียเปรียบแต่ย่างก้าวแรกในการทำธุรกิจแล้ว
นโยบายของรัฐที่ผ่านมา คือ การทุ่มงบประมาณในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งโรงไฟฟ้า ถนน และนิคมอุตสาหกรรมเพื่อดึงให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน คิดเป็นเงินปีละ หลายแสนล้านบาท
ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องทุมงบประมาณมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆเพื่ออุดหนุนคนไทย และธุรกิจชุมชน และนักธุรกิจไทยทั้งรายใหญ่และรายย่อยเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติซึ่งได้รับอภิสิทธิ์เหนือคนไทยในแผ่นดินไทยด้วยเชื้อโรค “การค้าเสรี”
กรณีของการขยายตัวของยักษ์เครือข่ายร้านค้าปลีกข้ามชาตินั้น รัฐบาลสามารถศึกษานโยบาย และกำหนดนโยบายจากประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งประชาชนของเขาตื่นตัว และรัฐบาลมีกลไกให้ชุมชนสามารถมีส่วนในการตัดสินใจว่าจะอนุมัติให้ตั้งได้หรือ ไม่ได้
ในประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่นต่างก็มีกฏหมายห้ามขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุน ซึ่งเป็นยุทธวิธีระยะสั้นของเครือข่ายร้านค้าปลีกยักษ์นำมาใช้เพื่อทำลายธุรกิจชุมชน แล้วมาโก่งราคาเพื่อเอากำไรคืนในภายหลังเมื่อผูกขาดตลาดได้แล้ว
รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายสนับสนุนร้านค้าปลีกขนาดเล็กและกลางโดยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนคืนระยะยาวให้นานถึง 10-20 ปี รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษี และความช่วยเหลือทางด้านความรู้ทางวิชาการบริหารสมัยใหม่ การทำบัญชี ฯลฯ
ในขณะที่หน่วยงานของรัฐบาลไทยดีแต่ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุนข้ามชาติอย่างหลับหูหลับตา เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงการคลัง และ กระทรวงพาณิชย์ ทั้งๆที่กินเงินเดือนจากภาษีอากรของคนไทยทั้งชาติ แต่หารู้สำนึกในบุญคุณไม่
สิ่งที่ควรจะเป็น คือ รัฐควรมีมาตรการและนโยบายทั้งระยะสั้นและระยะยาวเพื่อกำกับดูแลการขยายตัวของยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติ เพื่อสร้างความเป็นธรรมโดยกำหนดกติกาในการแข่งขันยุติธรรมระหว่างยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติเหล่านี้กับผู้ผลิตไทย ร้านค้าปลีกย่อย และเศรษฐกิจชุมชนให้อยู่รอดได้ และเพื่อคุ้มครองธุรกิจและเส้นเลือดชีวิตเศรษฐกิจของคนไทยด้วยมาตรการเหล่านี้ มิใช่การยอมจำนนต่อการข่มขู่คุกคามของบริษัทข้ามชาติในข้ออ้างเรื่องการลงทุน ประเทศไทยเป็นประเทศเอกราช และมีอธิปไตยเหนืออาณาเขต เราจะต้องไม่ยอมสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทางด้านเศรษฐกิจของไทยไป
นโยบายและมาตรการระยะสั้นเฉพาะหน้า คือ
มาตรการที่ หนึ่ง คือ การจำกัดเขตให้ออกไปอยู่นอกเมือง เพราะเป็นการสร้างปัญหาจราจรแออัด โดยเหตุผลหลักที่ชุมชน หรือ เทศบาลสามารถนำมาใช้ห้ามยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้ คือ เรื่องการทำให้จราจรในเมืองแออัด อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ในยุโรปจึงมีระเบียบว่าเครือข่ายยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้จะตั้งได้แต่ในบริเวณนอกตัวเมืองเท่านั้น ซึ่งมาตรการนี้เป็นการคุ้มครองร้านค้าย่อยวิธีหนึ่ง
ส่วนห้างที่เปิดไปแล้วก็ต้องออกระเบียบหรือคำสั่งของกระทรวงให้ตัดและปรับพื้นที่ของห้างบางส่วนเป็นพื้นที่การจราจรสาธารณะเพื่อชดเชยถนนของรัฐ เช่นย่านถนนอ่อนนุช และพระราม 4
มาตรการที่สองที่จะนำมาใช้ได้ คือ การออกระเบียบให้ติดราคาสินค้ามาตรฐาน และห้ามขายในราคาต่ำกว่าราคาที่ติดไว้ และห้ามจัดรายการการขายเกินปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับร้านค้าย่อย เมื่อคอมพิวเตอร์คิดราคาผิด (ตามที่มักชอบอ้างมาแก้ตัว) ต้องมอบสินค้านั้นให้ลูกค้าฟรี หรือจ่ายค่าปรับให้กับรัฐในข้อหาฉ้อโกงประชาชน
มาตรการที่สาม คือ การจ่ายภาษีรายได้ และแวท ต้องจ่ายในท้องถิ่นที่ตั้งของสาขา มิใช่ไปจ่ายที่สำนักงานใหญ่ นอกจากนี้ ต้องออกมาตรการการเก็บภาษีพิเศษบำรุงท้องถิ่นของธุรกิจข้ามเขตที่สำนักงานใหญ่ไม่ได้อยู่ในจังหวัด เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่ตลาดสด หรือ บริเวณร้านค้าในเมืองให้ทันสมัย มีที่จอดรถ และห้องน้ำให้ทันสมัย ไม่คิดเงินผู้ใช้ อำนวยความสะดวกอย่างเดียวกับที่ห้างเหล่านี้ดำเนินการเป็นจุดขายของตน
มาตรการที่ สี่ ซึ่งสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาตลาดสด และลานค้าขนาดใหญ่แบบสวนจตุรจักร รัฐบาลจะต้องจัดงบมาอุดหนุนตลาดสด และลานค้าแบบจตุรจักรให้เกิดขึ้นในทุกแห่งที่เครือข่ายร้านค้าเหล่านี้มาตั้ง โดยการจัดหาสถานที่ จัดระเบียบ และจัดที่จอดรถและห้องน้ำให้สดวก และกว้างขวางพอในขนาดเดียวกัน หรือ ใหญ่กว่ายักษ์ค้าปลีกเหล่านี้ โดยใช้วิธีการซื้อที่ดินในราคาตลาด เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อให้ร้านค้าย่อยเช่าในราคาถูก โดยใช้มืออาชีพหรือบริษัทรับบริหารงานอาชีพเข้ามาดำเนินการ
รัฐต้องยอมรับว่า การที่ประชาชนนิยมไปซื้อสินค้าในห้างค้าปลีกลดราคาเหล่านี้ เพราะห้างเหล่านี้อำนวยความสะดวกกับลูกค้าทุกประการเพราะมีเงินทุนที่สูงกว่า และสามารถเสนอราคาสินค้าถูกกว่าในบางกรณี ทั้งที่ต้นทุนสูงกว่า เพราะสามารถมาบีบกดราคาสินค้าจากโรงงานได้
แต่ถ้ารัฐสร้างตลาดแบบจตุรจักรที่ให้ความสะดวกไม่แตกต่างกันในด้านลานจอดรถที่กว้างขวาง และห้องน้ำที่สะอาดและทันสมัยมาแข่ง เพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภคและเป็นการสร้างอาชีพให้กับพ่อค้านักธุรกิจย่อย โดยวิธีนี้จะเป็นการช่วยให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการที่เป็นวิถีชีวิตของคนไทย เพราะมีความสะดวกเท่าเทียมกัน และได้สินค้าราคาถูกกว่าเนื่องจากลานค้าและตลาดสดที่ทันสมัย สะอาดเยี่ยงนี้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายถูกว่า
รัฐบาลเคยจัดงบมาสร้างนิคมอุตสาหกรรม หรือ โรงไฟฟ้า หรือ ถนน ฯลฯ หรือ ลดภาษีให้เพื่อดึงต่างชาติมาลงทุน บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะดึงงบเหล่านั้น หรือ จัดงบเหล่านั้นมาอุดหหนุนธุรกิจของคนไทยเพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในเรื่องการจัดหาสถานที่ขนาดใหญ่ จัดหาที่จอดรถ สนับสนุนการวิจัยการแปรรูป การวิจัยและพัฒนาการบรรจุภัณฑ์ของสินค้าชุมชน วิธีการทำการตลาด การออกแบบฉลาก รูปทรงสินค้า ภาชนะ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการส่งเสริมอย่างจริงจังให้เกิดการรวมตัวกันของผู้ผลิตในแต่ละผลิตภัณฑ์ แต่ละตัวสินค้า แต่ละผลผลิต เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง และสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้ผลิต และร้านค้าย่อย
มาตรการที่ 5 คือ การจัดถนนคนเดินและถนนช๊อปปิ้งให้เกิดขึ้นในทุกชุมชน พัฒนาบริเวณริมคลอง ริมแม่น้ำ หรือ ริมชายหาดให้กลายเป็นถนนคนเดิน โดยมีการจัดระเบียบและจัดสรรบริเวณเป็นที่จอดรถ และสร้างห้องน้ำที่ทันสมัยอย่างพอเพียง โดยเฉพาะห้องน้ำตามวัดวาซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวก และเพื่อดึงผู้บริโภคให้หันมาใช้บริการร้านค้าย่อย ร้านบูติก หรือ ร้านอาหาร ในถนนสายต่างเหล่านี้ เพื่อไม่ให้ร้านค้าย่อยต้องล้มละลายเพราะคนไปเดินห้างเสียหมด
มาตรการที่ 6 การออก พ.ร.บ. ใบประกอบอาชีพของคนต่างด้าวที่เข้ามาบริหารงานต้องเข้ามาสอบใบประกอบอาชีพเป็นภาษาไทย เหมือนอย่างที่คนไทยที่เข้าไปประกอบอาชีพในประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนต้องไปสอบเอาใบประกอบอาชีพจากประเทศนั้นๆในภาษาของประเทศนั้นๆ ผู้บริหารของเครือข่ายยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้จะต้องเข้ามาสอบเอาใบประกอบอาชีพด้วยภาษาไทย เหมือนคนไทย นอกจากนี้ การค้าปลีกของคนไทยต้องกำหนดให้เป็นอาชีพที่รัฐต้องให้การคุ้มครองและอุดหนุน
มาตรการที่ 7 คือ การส่งเสริม หรือ อุดหนุนให้เกิดร้านค้าสหกรณ์ผู้บริโภคสินค้าและอาหารประจำวันขึ้นทุกชุมชน เพื่อให้ชุมชนหันมาซื้อสินค้าในร้านสหกรณ์สินค้าปลีกชุมชนของตน เมื่อร้านค้ามีกำไรก็จะคืนกำไรกลับเข้าสู่กระเป๋าของผู้บริโภค
มาตรการที่ 8 กระทรวงแรงงานต้องออกคำสั่งกระทรวงให้มีการจัดตั้งสหภาพคนงานร้านค้าปลีกเพื่อที่ว่าคนงานจะได้มีอำนาจต่อรองเอาค่าแรง และค่าสวัสดิการเท่ากับที่บริษัทเหล่านี้จ่ายให้พนักงานบริษัทแม่ในประเทศของตน โดยไม่มีการแบ่งแยกกีดกัน เพราะถือว่าทำงานบริษัทเดียวกัน ก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและทัดเทียมกันตามกฎ ระเบียบ และนโยบายเดียวกัน การย้ายชั่วโมงการทำงาน หรือ เปลี่ยนชิฟจะต้องให้พนักงานหรือคนงานยินยอมพร้อมใจ ห้ามเปลี่ยนบ่อยๆเพราะว่าเป็นการเอาเปรียบพนักงานที่ต้องการวางแผนใช้เวลาไปเรียน หรือพัฒนาอาชีพที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า
มาตรการที่ 9 การออกกฎหมายผังเมืองทั้งในระดับชาติ ระดับชุมชน ระดับเมือง ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด กำหนดให้เครือข่ายค้าปลีกข้ามชาติต้องออกไปตั้งนอกเมืองที่ไม่มีชุมชน และไม่มีตลาดสด
มาตรการที่ 10 รัฐต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง Cartel หรือ สหภาพของผู้ผลิต เพื่อให้มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาสินค้าขายส่ง ให้เครือข่ายค้าปลีกยักษ์เหล่านี้ รวมทั้งการต่อรองค่าธรรมเนียมในการวางสินค้าแรกเข้า ค่าส่วนลด ค่าส่งเสริมการขาย ค่ากระจายสินค้า และค่าโฆษณาเป็นต้น
มาตรการที่ 11 ประชาชนต้องปลุกและสร้างจิตสำนึกความเป็นชาตินิยมให้คนทั้งชาติมองเห็น “ภัย” ของการคุกคามของทุนต่างชาติที่เข้ามารุกรานในทุกรูปแบบ เช่น ระบบค้าปลีกยักษ์ที่ทำลายทุนท้องถิ่นและชุมชน ระบบแฟรนไชส์ ระบบคอนแทรกฟาร์มมิ่ง(เกษตรตีตรวน) ระบบสิทธิบัตร ซึ่งล้วนเป็นระบบ “กินหัวคิว” จากประชาชนและผู้ประการรายย่อยทั้งสิ้น
รัฐมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของชาติและปกป้องประชาชนในชาติ จึงต้องอุดหนุน และสนับสนุนให้เกิดระบบการค้าที่เป็นธรรม โดยการวางกติกาต่างๆ และดำเนินนโยบายเพื่อธุรกิจย่อยมีโอกาสผุดเกิด หรือ มีโอกาสอยู่ได้ต่อไปตามาตรการต่างๆที่เสนอมาข้างต้น หรือ มาตรการอื่นๆ ถ้าหากรัฐบาลละเลยหน้าที่ของตน โดยไม่เพียงแต่วิถีชีวิตของคนไทยและธุรกิจย่อยจะถูกยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติเหล่านี้มาทำลายแล้ว อุตสาหกรรมของคนไทย นักธุรกิจไทยก็จะไม่รอดไปด้วย เพราะวิธีการของยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้ จะกดราคาซื้อสินค้าที่จะนำมาขายในห้าง คิดค่ากินเปล่าสินค้าเป็นรายตัว ปัดภาระค่าบริหารและค่าโฆษณา ค่าแผ่นพับ และค่าแจกจ่ายมาให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ หรือ โรงงาน
เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมก็จะถูกแปรรูปจากนายทุนมากลายเป็นกรรมกรผลิตสินค้าป้อนห้างเหล่านี้ เพราะขาดอำนาจการต่อรอง เพราะ ช่องทางการจัดจำหน่ายอื่นๆ เช่นคนกลาง ยี่ปั๊ว และร้านค้าปลีก หรือ โชว์ห่วยถูกทำลายไปหมดแล้ว
เมื่อร้านค้าย่อยและยี่ปั๊วถูกทำลายหมด ห้างเหล่านี้ก็จะรวมหัวกันขึ้นราคาสินค้าได้ตามใจชอบ เพราะไม่มีเหตุผลที่จะมาขายถูกอีกต่อไป เนื่องจากการทำธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ คือ การหากำไรสูงสุด
เมื่อยักษ์ค้าปลีกเหล่านี้มีผลกำไรก็แลกเงินบาทเป็นเงินตราต่างประเทศส่งกลับสำนักงานใหญ่อันเป็นบริษัทแม่ในประเทศของตน ประเทศก็จะขาดดุลย์การชำระเงิน ค่าเงินก็จะอ่อน ต้องลดค่า และ เกิดเงินเฟ้อ ภาระในการชำระหนี้และดอกเบี้ยหนี้สาธารณะก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ชาวนาก็ต้องทำงานหนักเป็น 2 เท่า หรือ 3 เท่า เพื่อให้ได้เงินเท่าเดิม ประชาชนทั่วไปก็เช่นเดียวกัน ถ้าหากว่าต้องการรักษาคุณภาพชีวิตเท่าเดิมก็ต้องทำงานหนักขึ้น หรือ ลดคุณภาพชีวิตลง มาตรฐานชีวิตของคนทั้งชาติก็จะลดลง เพราะสินค้าจำเป็นจากต่างชาติ เช่นน้ำมัน หรือ อื่นๆจะแพงขึ้น แต่สินค้าส่งออกจะได้เงินน้อยลง
ภาระการจ่ายหนี้สินทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นของหนี้สาธารณะ และหนี้ต่างประเทศทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐก็จะเพิ่มขึ้นเพราะค่าเงินอ่อนลง รวมทั้งราคาสินค้าทุน ประเภทเครื่องจักรด้วย
วิกฤติเศรษฐกิจและการจราจลแบบที่เกิดขึ้นในอาเจนตินาก็คงจะมาเยือนอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ถ้ารัฐบาลมองข้ามถึงความอยู่รอดของธุรกิจย่อย วิถีชีวิตเศรษฐกิจชุมชน และอุตสาหกรรมของคนไทยที่จะต้องมาถูกผูกและพึ่งช่องการจัดจำหน่ายของยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติที่กำลังขยายตัวไปยังทุกจังหวัดในขณะนี้ โดยที่รัฐไม่มีมาตรการและนโยบายที่ชัดเจนมาส่งเสริมคุ้มครอง ปกป้อง และสนับสนุน ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับธุรกิจย่อยของคนไทย รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมไทยซี่งรัฐไม่ได้สร้างกลไกขึ้นมาเพื่อดูแลให้มีอำนาจต่อรองกับยักษ์ค้าปลีกข้ามชาติได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความเป็นธรรม
มิคสัญญีจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น