วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

รำลึก สุวัฒน์-เพ็ญศรี วรดิลก

พี่อู๊ดและพี่โจ๊วของคนไทยในแอลเอ
กมล กมลตระกูล
พี่อู๊ด-รพีพร หรือ สุวัฒน์ วรดิลก และ พี่โจ๊ว-เพ็ญศรี พุ่มชูศรี เป็นขวัญใจของคนไทยในเมืองลอสแอนเจลิสเมื่อครั้งนำศิลปินนักร้องนักแสดงกิตติมศักดิ์กว่า 10 ชีวิตบากบั่นเดินทางมาจัดงาน “ส่งความรักกลับเมืองไทย” ร่วมกับมูลนิธิไทย-อเมริกันและ น.ส.พ. ประชามติ เพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ที่เมืองไทย เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2526
ในการเดินทางมาในครั้งนี้ คณะศิลปินนักร้องนักแสดงกิตติมศักดิ์ ได้เดินทางไปแสดงที่เมือง ซานฟรานซิสโก และชิคาโกด้วย
ก่อนหน้าการจัดงานครั้งนี้ พี่อู๊ดก็ให้ความเมตตากับผมซึ่งเป็นผู้อำนวยการ น.ส.พ. ประชามติ ในขณะนั้นโดยการเขียนบทความให้เป็นประจำทุกอาทิตย์โดยไม่ยอมรับค่าเรื่อง ย้อนหลังไปอีกในช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พี่อู๊ดก็ให้ความเมตตาโดยการเลี้ยงอาหารเป็นประจำทุกครั้งเมื่อ คุณ ธัญญา ชุนชฎาธารพาไปแนะนำให้รู้จักกับพี่อู๊ดที่บ้านที่อยู่ตรงกันข้ามกับสนามม้านางเลิ้ง จากนั้นมาผมก็กลายเป็นแขก(ตามดอย)ขาประจำคนหนึ่งของพี่อู๊ดร่วมกับเพื่อนๆนักศึกษาอื่นๆในยุคก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เพราะว่าไปทุกครั้งได้ท้องอิ่มและสมองอิ่มตามมา เนื่องจากพี่อู๊ดมีความรู้กว้างขวาง โดยเฉพาะมีความจำแม่นยำมากในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และเบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์ทางการเมือง และบุคคลในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญคือ การเล่าเรื่องของพี่อู๊ดมักมีการวิพากษ์วิจารณ์ในทำนอง “เข่นคนพาล อภิบาลคนดี” ทำให้นักศึกษาที่เป็นแขกประจำ ได้เริ่มสะสมจิตสำนึกและแยกมิตรแยกศัตรูของประชาชนออก
นักศึกษาที่เป็นแขกขาประจำของพี่อู๊ดต่อมาก็ล้วนมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์มหาปิติ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญต่อๆมา
เมื่อผมเดินทางมาศึกษาต่อที่อเมริกาจนรากงอก และปักหลักอยู่ที่เมืองลอสแอนเจลิส และก่อตั้งหนังสือพิมพ์ ประชามติก็เลยเขียนจดหมายถึงพี่อู๊ดเพื่อรบกวนขอบทความมาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เพื่อให้คนไทยในต่างแดนได้อ่านข้อเขียนที่มีคุณภาพของนักเขียนที่มีจุดยืนอยู่เคียงข้างประชาชน และนำไปสู่การรบกวนครั้งใหญ่ในการขอให้พี่อู๊ดและพี่โจ๊ว-เพ็ญศรี พุ่มชูศรี นำศิลปินนักร้องนักแสดงกิตติมศักดิ์มาจัดแสดงเพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กผู้ยากไร้ที่เมืองไทย
ศิลปินนักร้องนักแสดงกิตติมศักดิ์ที่พี่อู๊ด และพี่โจ๊ว เป็นหัวหน้าคณะนำมาประกอบด้วย คุณวงจันทร์ ไพโรจน์ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง คุณทนงศักดิ์ ภักดีเทวา คุณพราวตา ดาราเรือง คุณอดิเรก จันทร์เรือง ฯลฯ
ในการจัดงานครั้งนี้ ทางมูลนิธิไทย-อเมริกัน ซึ่งผมเป็นประธาน คุณ ลี สตอรี่ เคเบิ้ล เป็นรองประธาน และมีคุณวรวิทย์ จิตจาตุรันต์ ผู้เป็นกรรมการและเหรัญญิก และ คุณกีรตี ชนา ผู้เป็นประชาสัมพันธ์ของมูลนิธิ คุณวีระ จัดแจง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการดำเนินงาน ส่วนทางด้าน หนังสือพิมพ์ประชามติก็มีคุณชัชวาลย์ ศรีพาณิชย์ ผู้เป็นบรรณาธิการ และคุณนิตย์ อภิวรรณศรี ประจำกองบรรณาธิการฝ่ายศิลป์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอีกผู้หนึ่ง
งาน “ส่งความรักกลับเมืองไทย” เป็นการแสดงฝีมือในการกำกับงานที่เป็นการแสดงที่ผสมผสานระหว่างละครร้องซึ่งใช้บทเพลงไทยสากลที่สะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองในแต่ละยุคมาดำเนินเรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองในประวัติศาตร์ไทย เช่น เพลง 24 มิถุนา ซึ่งแสดงถึงความปลื้มปิติของประชาชนที่ได้ลิ้มรสระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก หรือ เหตุการณ์ ความทุกข์ยากและแร้นแค้นขาดแคลน ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีลำนำเพลงประกอบการแสดง เพลง ก๋วยเตี๋ยว เพลงสามล้อ เพลงที่สะท้อนรัฐบาลชาตินิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพลงรักกันไว้เถิด จนกระทั่งถึงเพลงรัตติกาล
การแสดงครั้งนี้สร้างความประทับใจให้คนไทยในต่างแดนซึ่งห่างบ้านห่างเมืองมาเป็นเวลานาน แต่โชคดีที่ได้ชมและฟังรายการที่จัดว่าเป็นการแสดงระดับคลาสสิคที่แม้แต่คนไทยในเมืองไทยก็ไม่มีโอกาสเช่นนี้ เพราะว่าศิลปินและนักร้องหลายๆท่านได้ยุติอาชีพการแสดงของตนแล้ว
การจัดงานนี้ได้จัดขึ้นที่ 3 เมืองใหญ่ โดย วันที่ 4 กันยายน 2526 มูลนิธิไทย-อเมริกันได้ร่วมกับชมรมโรบินฮู๊ด และสมาคมไทยในแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ จัดแสดงที่เมืองซานฟรานซิสโก และวันที่ 9 กันยายน 2526 มูลนิธิไทย-อเมริกันได้ร่วมกับ น.ส.พ. ไทยไทม์ และ นิตยสารตะวันของเมืองชิคาโก จัดให้ชาวไทยในชิคาโกได้ชมด้วย
การจัดงาน “ส่งความรักกลับเมืองไทย” ใน 3 เมืองใหญ่ในอเมริกาได้รับการต้อนรับอย่างเกรียวกราวและคับคั่งจากคนไทยในอเมริกาทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งคุ้นเคยกับเพลงเก่าๆในประวัติศาสตร์ การมาจัดงานครั้งนี้ได้จุดประกายให้มีการเชื้อเชิญนักร้องรุ่นลายคราม เช่น สวลี ผกาพันธุ์ และชรินทร์ นันทนาคร ฯลฯ เดินทางมาร้องและแสดงในชุมชนไทยตามเมืองใหญ่ๆมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากนี้ นักร้องเพลงเพื่อชีวิต อย่าง วง คาราวาน และ คาราบาว ก็เคยได้รับเชิญมาแสดงในอเมริกาเช่นกัน
นอกจากพี่อู๊ดจะเหนื่อยยากในการเป็นผู้กำกับ เป็นผู้อำนวยการซ้อมอย่างแทบจะไม่ได้พักผ่อน เพราะว่าต้องเดินทางตะลอนบินไปถึง 3 เมืองใหญ่ และในแต่ละเมืองก็ต้องระดมฝึกและคัดผู้แสดงประกอบมาเข้าร่วมด้วยซึ่งไม่ใช่งานง่ายๆ พี่อู๊ดยังเป็นแขกรับเชิญของสมาคมคนไทยในต่างแดนต่างๆ เช่น สมาคมธรรมศาสตร์ในแคลิฟอร์เนียภาคใต้และภาคเหนือ ในการบรรยายสถานการณ์ในเมืองไทย รวมทั้งการขอเรี่ยไรเงินมาสนับสนุนงานของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์อีกด้วย
ชาวไทยในแอลเอและเมืองต่างๆที่คณะศิลปินนักร้องนักแสดงกิตติมศักดิ์เดินทางไปแสดงอย่างไม่ย่อท้อต่อความเหนื่อยยากโดยไม่รับเงินค่าตอบแทนเลย ต่างประทับใจในความเสียสละของพี่อู๊ดและคณะศิลปินนักร้องนักแสดงกิตติมศักดิ์ และต่างให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น เช่น คุณชัชวาลย์ ศรีพาณิชย์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชามติ ได้เปิดบ้านรับรองคณะศิลปินนักร้องนักแสดงกิตติมศักดิ์ทั้งคณะ
ในการแสดงที่เมืองลอสแอนเจลิสได้จำหน่ายบัตรจำนวน 1200 ใบหมดเกลี้ยง อันนับเป็นประวัติการณ์ที่มีการจัดงานใหญ่เช่นนี้ในชุมชนคนไทยในต่างแดนในยุคนั้น และในวันเปิดการแสดงนั้นที่นั่งทุกที่นั่งเต็มหมด จนต้องยืนกันล้นห้องประชุมที่จัดแสดงที่เมืองพาสซาดินา เช่นเดียวกับการแสดงที่ซานฟรานซิสโกและชิคาโก
นอกจากพี่อู๊ดจะได้สร้างความประทับใจให้กับชาวไทยแล้ว พี่อู๊ดยังได้สร้างสัมพันธไมตรีและความประทับใจให้กับมิตรแท้ชาวอเมริกันซึ่งรักเมืองไทย และให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้โดยเฉพาะเด็กและผู้หญิงที่ด้อยโอกาส.
มิตรสากลผู้นี้ ชื่อ Lee Storey Cable ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิไทย-อเมริกัน และรับตำแหน่งรองประธานของมูลนิธิ โดยจัดหาสถานที่ทำการให้โดยไม่คิดเงิน และให้ความสนับสนุนด้านอื่นๆทุกด้านเพื่อให้มูลนิธิแจ้งเกิดและดำรงอยู่ได้ Lee เป็นมิตรชาวอเมริกันคนหนึ่งนอกเหนือจากอีกหลายๆคนที่มีคุณูปการต่อขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนไทย ที่ผมไม่เคยลืมเลือน และจะไม่ยอมลืมเลือนเลย คุณ ลี สตอรี่ เคเบิล ( Lee Storey Cable) เป็นคนนับถือศาสนาเควกเกอร์ ซึ่งเชื่อในเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง สนับสนุนสันติภาพ ช่วยเหลือดูแลผู้ที่อ่อนแอและถูกข่มเหงจากความไม่ชอบธรรมทั้งปวง โดยเฉพาะจากการใช้ความรุนแรง ชาว เควกเกอร์มีบทบาทอย่างสูงในการคัดค้านสงครามอธรรมที่รัฐบาลอเมริกากระทำกับเวียดนาม
คุณลี เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อ 5 ปีที่แล้วนี้เอง ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงของเมืองไทยจำนวนไม่น้อยล้วนรู้จักและเคยร่วมมือ หรือ ได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับการต้อนรับจากคุณลี เช่น อาจารย์ ป๋วย อึ๊งภาการณ์ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ คุณทองใบ ทองเปาน์ คุณ สุวัฒน์ วรดิลก คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี คุณ วงศ์จันทร์ ไพโรจน์ คุณสุเทพ วงศ์กำแหง คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ คุณ กมล ทัศนาญชลี คุณชัย ราชวัตร และคุณสุธรรม แสงประทุม คุณปิยะณัฐ วัชราภรณ์ฯลฯ ล้วนเคยได้รับน้ำใจจากเธอและสามี ที่ชื่อว่า จอร์จ เคเบิล ซึ่งเป็นวิศวกร
ลี มีอาชีพเป็นนักออกแบบศิลปะ เป็นลูกคนรวย และเรียนจบที่ California Art Institute ซึ่งมีชื่อเสียงมากทางด้านเป็นสถาบันทางศิลปะ ลีได้จัดตั้งคณะทำงานและโต๊ะทำงานในสำนักงานของ AFSC (American Friends Service Committee) ให้ผมและเพื่อนๆได้ใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และช่วยรณรงค์ให้คณะกรรมการอื่นๆในสำนักงานช่วยเขียนจดหมายเและล่าลายเซนต์เรียกร้องให้รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร คืนอำนาจให้ประชาชน จัดให้มีการเลือกตั้งและปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นนิสิตนักศึกษา
นอกจากนี้ ลียังได้ช่วยประสานงานในการเชิญอาจารย์ป๋วยมาให้ข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่รัฐสภาอเมริกัน คำรายงานของอาจารย์ ป๋วย อี๊งภากรณ์ได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นภาษาอังกฤษและไทยเผยแพร่ไปทั่วโลก
ลีและสามีมีเรือใบสำเภาจีนที่สวยงามมาก ซึ่งคนที่มีเรือใบ( Yacht) ในอเมริกาส่วนใหญ่จะมีฐานะและอยู่ในสังคมชั้นสูง เพราะราคาเรือใบ ค่าจอดเรือ และค่าบำรุงดูแลรักษาแพงมาก คนไทยที่ผมเอ่ยชื่อมาข้างต้น จึงได้อานิสงค์จากลีและสามีซึ่งทำหน้าที่เป็นกัปตันเรือเสมอๆโดยเมื่อบุคคลข้างต้นได้รับเชิญมาประชุม ปาฐกถา หรือ เป็นวิทยากรที่อเมริกา และมาพบกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิไทย-อเมริกัน ลีก็มักอาสาเป็นเจ้าภาพพาไปล่องเรือและกินดื่มท่ามกลางท้องน้ำสีฟ้าเข้ม ในอ่าวของเขต มารินา เดล เรย์ เมืองซานตามอนิกา ซึ่งได้ชื่อว่าสวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา และของโลก ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่หาได้ยาก
พี่อู๊ดและคณะศิลปินกิตติมศักดิ์ก็ได้รับเกียรติจากคุณลีพาล่องเรือสูดอากาศบริสุทธิ์และชมความงามของท้องทะเลรอบๆอ่าวซานตามอนิกาอันสวยงาม
ลี ได้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ ไทย-อเมริกันร่วมกับผม และ คุณวรวิทย์ จิตจาตุรันต์ โดยให้ผมเป็นประธานของมูลนิธิ เรี่ยไรเงินและทำกิจกรรมหาเงินทุน เช่น การทำกระป๋องรับบริจาคเงินไปวางตามร้านอาหารไทย ขายไก่ย่างและลูกชิ้นปิ้งในงานวัดไทย พิมพ์โปสเตอร์และหนังสือขาย เพื่อนำเงินมาช่วยเหลือมูลนิธิในเมืองไทย เช่น มูลนิธิเด็ก ที่มีคุณหมอ ประเวศ วะสี เป็นประธาน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มีคุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว มูลนิธิดวงประทีป ของคุณครู ประทีป อึ้งทรงธรรม มูลนิธิ เด็กอ่อนในสลัม ที่มีคุณนงเยาว์ นฤมิตรเรขการ เป็นผู้อำนวยการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ที่มีครูหยุยเป็นผู้อำนวยการ และคุณหญิงจันทนี สันตะบุตร เป็นประธาน และมูลนิธิโกมล คีมทอง ที่อ.จ. สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นประธาน
มูลนิธิไทย-อเมริกันได้รับความร่วมมือจากคุณกีรตี ชนา ซึ่งเป็นนักเขียนช่วยประสานงานกับคุณปุ๋ย หรือภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก อดีตนางงามจักรวาลช่วยรณรงค์ หาเงินช่วยเหลือเด็กไทยที่ยากไร้ โดยการกล่าวถึงปัญหาเด็กในวันที่ให้สัมภาษณ์ในวันชิงตำแหน่งนางงามจักรวาลด้วย
เมื่อได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลแล้ว คุณปุ๋ยก็ยังรักษาคำมั่นและเจตนารมณ์ของเธอ ด้วยการมาเยี่ยมเด็กๆที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ของครูหยุย และมูลนิธิอื่นๆ แม้แต่ในทุกวันนี้ ซึ่งคุณปุ๋ยกลายเป็นมหาเศรษฐีโลกแล้วก็ยังรักษาเจตจำนงค์และความมุ่งมั่น ที่ได้ประกาศไว้ในวันรับตำแหน่งนางงามจักรวาล โดยการให้ความช่วยเหลือเด็กๆที่ยากไร้ เด็กๆที่พิการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการไปเยี่ยมเด็กๆเหล่านี้ด้วยทุกครั้งที่กลับมาเยี่ยมบ้าน นับว่าคุณปุ๋ยเป็นคนไทยที่โตในอเมริกาที่เป็นแบบอย่างให้คนที่รวยแล้วควรรู้จักเผื่อแผ่แบ่งปันให้กับผู้ด้อยโอกาสบ้าง
ในทำนองเดียวกัน คุณวีระ จัดแจงก็ได้ประสานงานให้คุณ สาวิณี ปะการะนัง อดีตนางสาวไทย และรองนางงามจักรวาลซึ่งเติบโตในเมืองลอสแอนเจลิส เป็นผู้นำเงินมามอบให้กับมูลนิธิเด็กที่เมืองไทยอีกด้วย
จากวันที่พบกับลีในปลายปี 2519 เป็นเวลาเกือบ 27 ปีที่ลีได้อุทิศตนเข้าช่วยเหลืองานด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่องตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต มูลนิธิโกมล คีมทอง ได้ตั้งกองทุนที่ได้รับบริจาคจากคุณวรวิทย์ จิตจาตุรันต์ คุณประสงค์ จตุระบุล และคุณวีระ จัดแจง ตั้งขึ้นในนามกองทุน ลี สตอรี่ เคเบิล เพื่อส่งเสริมงานด้านการศึกษาและมนุษยธรรม ทางกองทุนยินดีรับบริจาคเพื่อขยายกองทุนนี้ให้ถาวรต่อไป
การที่พี่อู๊ดและพี่โจ๊วรับเชิญจากมูลนิธิไทย-อเมริกันนำคณะศิลปินกิตติมศักดิ์จากเมืองไทยมาแสดงเพื่อหาทุนช่วยเหลือเด็กไทยที่ยากไร้ในเมืองไทยได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้คนไทยในต่างประเทศไม่ลืมผู้ยากไร้ในประเทศไทย และนำไปสู่กิจกรรมอันสร้างสรรค์ที่ตามมาอีกหลายโครงการ เช่น โครงการออกแบบกระป๋องรับบริจาคเงินไปวางตามร้านอาหารไทยในเมืองต่างๆ และได้รับการบริจาคอย่างมากมาย
พี่อู๊ดและพี่โจ๊วจากไปแล้ว แต่คนไทยในแอลเอ(ลอสแอนเจลิส) และเมืองอื่นๆก็ยังไม่ลืมคุณความดีและน้ำใจของพี่อู๊ดและพี่โจ๊วที่ฝากไว้
ในโอกาสนี้ ในนามของมูลนิธิไทย-อเมริกัน ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและขอให้คุณความดีของพี่อู๊ด-สุวัฒน์ วรดิลกและพี่โจ๊ว-เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ที่ได้สร้างไว้แก่สังคมไทยมาตลอดชีวิตผ่านงานเขียนที่มีคุณค่า มีแง่คิดที่ยืนอยู่ข้างความเป็นธรรม อยู่ข้างผู้ด้อยโอกาส และเชิดชูระบอบประชาธิปไตย ส่วนพี่โจ๊วก็ได้ฝากเสียงเพลงร้องที่ไพเราะอันเป็นอมตะที่ให้ความรื่นรมย์กับคนรุ่นหลัง รวมทั้งวัตรปฏิบัติที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทุกๆคนโดยเฉพาะเพื่อนนักเขียน และศิลปินทั้งรุ่นอาวุโส รุ่นน้อง รุ่นลูก และรุ่นหลาน ได้นำพาพี่อู๊ด และพี่โจ๊วไปสู่สัมปรายภพอันเป็นภาวะที่ว่างและหลุดพ้นด้วยเทอญ

14 พฤษภาคม 2550

ไม่มีความคิดเห็น: