วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ความชอบธรรมในการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา

ความชอบธรรมในการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา
กมล กมลตระกูล

หลังจากที่ประเทศไทยประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา รัฐบาลสหรัฐฯก็ประกาศจัดอันดับประเทศไทยเป็นประเทศถูกจับตามองทันที ซึ่งแสดงถึงความไร้ศีลธรรม ไร้คุณธรรม โดยคำนึงถึงแต่ผลประโยชน์เหนือมนุษยธรรมของบริษัทยาและรัฐบาลสหรัฐฯ
อันที่จริงประเทศไทยมีความชอบธรรมและได้ดำเนินการตามปฏิญญาโดฮาของที่ประชุมองค์การค้าโลกทุกประการ
ในปฏิญญาโดฮาระบุว่า “ ข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การค้าโลกไม่ห้ามและไม่ควรกีดกันสมาชิกในการนำมาตรการมาใช้ป้องกันความเจ็บไข้ได้ป่วยของประชาชน สมาชิกสามารถและควรตีความและนำไปปฏิบัติเพื่อปกป้องสุขภาพของคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนเข้าถึงยาได้อย่างสมบูรณ์”
ในข้อที่ 5 ได้ขยายความอธิบายไว้อย่างไม่มีที่สงสัยดังนี้ “ สมาชิกขององค์การค้าโลกมีสิทธิประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ( Compulsory Licenses) และมีเสรีภาพในการพิจารณาถึงความจำเป็นในการประกาศใช้สิทธินี้ และไม่ถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงเรื่องการปฏิบัติเหมือนคนในชาติ ( National Treatment) และเรื่องการปฏิบัติต่อทุกชาติเสมอกัน(Most Favour Nation-MFN)”
อย่างไรก็ตามนี่เป็นครั้งแรกที่กระทรวงสาธารณสุขในยุคของคุณหมอมงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรี และคุณหมอ วิชัย โชควิวัฒน์เป็นอธิบดีที่กล้าประกาศความเป็นไทโดยการประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตผู้ป่วยโรคเอดส์
ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขในยุคก่อนๆกลับทำตรงกันข้ามคือไปประกาศตัวอยู่ใต้ระบอบสิทธิบัตรยาล่วงหน้าตั้ง 10 ปี ก่อนจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งยังไม่เคยมีการประเมินตัวเลขว่ามีผู้ป่วยที่ไม่มีเงินซื้อยาราคาแพงตายไปแล้วกี่ร้อยกี่พันคนในช่วง 10 ปีนั้น
ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ว่าไปแล้วประเทศไทยประกาศใช้สิทธินี้ช้าไปด้วยซ้ำ ประเทศอัฟริกาใต้ได้ประกาศใช้สิทธินี้ไปตั้งแต่ปี 2003 เช่น เดียวกับอีกหลายๆประเทศ เช่น แซมเบีย ซิมบับเว กานา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสวาซีแลนด์
สหรัฐอเมริกาก็ประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” ในภายหลังเกิดเหตุการณ์เครื่องบินวิ่งถล่มตึกเวิลด์ เทรด และมีการส่งสารแอนแทรกไปทางไปร์ษณีย์ไปยังหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง อเมริกามียาป้องกันไม่พอเพียง จึงประกาศใช้สิทธินี้ในการผลิตยาCiprofloxacine ซึ่งเจ้าของสิทธิบัตร คือ บริษัท Bayer ของประเทศเยอรมัน
การประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” เป็นเรื่องที่บริษัทยากลัวที่สุด เพราะเกรงว่าจะกลาย เป็นไฟลามทุ่ง อันที่จริงก็เกิดขึ้นจริง คือ บราซิลได้ประกาศเอาอย่างไทยทันที
การประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” เป็นสิทธิตามข้อตกลงขององค์การค้าโลกซึ่งยอมรับหลักการสากลว่าชีวิตผู้ป่วยสำคัญกว่ากำไร แต่ไม่ค่อยจะมีประเทศไหนกล้าใช้สิทธินี้ เพราะเกรงว่า อันธพาลโลกจะพาลหาเหตุมากลั่นแกล้งทางการค้า เช่นการตัดจีเอสพี หรือการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมากีดกันการค้า ( ความปลอดภัยของสินค้าหรืออาหารฯลฯ)
หลายประเทศก็ไม่ยอมจำนนอย่างง่ายๆ เพราะคิดว่าชีวิตของประชาชนของชาติตนมีความสำคัญเป็นอันดับแรก เรื่องค่าวิจัยผลิตยาใหม่เป็นเพียงข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะว่ารัฐบาลเป็นผู้อุดหนุนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น อินเดีย จีน เวียดนาม และบราซิล จึงผลิตยาเอง หรือนำเข้ายาจากประเทศที่ ประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” ยาในประเทศเหล่านี้จึงถูกกว่าในไทยหลายเท่าตัว
อันที่จริงประเทศไทยก็มีอำนาจต่อรองแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง คือ เมื่อถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ถูกจับตามมองเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นมาตรการอันธพาลในการกีดกันการค้ารูปแบบหนึ่งที่ขัดกับข้อตกลงขององค์การค้าโลก
ประเทศไทยก็สามารถประกาศความเป็นไทอย่างสมบูรณ์ ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย โดยประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา “ ทุกตัวยาให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ซึ่งไม่ขัดกับข้อตกลงขององค์การค้าโลก เพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่มีหนี้สินครัวเรือนละกว่าแสนบาท คือยังเป็นประเทศจนอยู่ การประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” จึงไม่ผิดกติกาขององค์การค้าโลก
นอกจากนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออก ดังนั้นการใช้มาตรการตาต่อตา ฟันต่อฟันกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯหรือประเทศอื่นที่ใช้นโยบายอันธพาลกับไทย ก็จะได้กำไรมากกว่าขาดทุน
การถูกกีดกันการค้าก็จะผลักดันให้ไทยคิดหาทางออกในการหาตลาดใหม่ๆ และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพึ่งตนเองแบบพอเพียงให้เกิดเป็นจริง เช่น หันมาผลิตยาส่งออกแบบอินเดีย มิใช่ชูเป็นคำขวัญอย่างที่ทำกันอยู่ในขณะนี้ สรุปคือ เศรษฐกิจไม่พังอย่างแน่นอน
คนไทยทั้งประเทศจึงต้องสำแดงพลังสนับสนุนการประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” ของหมอมงคล ณ สงขลา อย่างเต็มที่ เพื่อแสดงให้บริษัทยาที่ไร้ศีลธรรมเห็นพลังของคนไทยว่ายืนอยู่ข้างหลังคุณหมออย่างมีเอกภาพ และพร้อมจะออกมาสนับสนุนหมอมงคล ณ สงขลา ทุกรูปแบบ โดยยึดนโยบาย “กูไม่กลัวมึง”
อย่าปล่อยให้คุณหมอโดดเดี่ยวถูกทิ้งให้ออกโรงสู้คนเดียวเหมือนอย่างที่ค.ร.ม.กระทำกับคุณหมอ
ครับ ........... ประเทศไทยไม่ใช่เมืองขึ้นของใคร ต้องให้ความสำคัญกับสิทธิและชีวิตของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก เพราะว่ายาถือเป็นสินค้าเชิงมนุษยธรรม มีความสำคัญต่อชีวิตจึงต้องแยกเงื่อนไขต่างๆ ออกจากสินค้าทั่วไป
สิทธิของมนุษย์ที่ควรจะมีชีวิตอยู่ย่อมเหนือกว่าผลประโยชน์ทางการค้า ดังนั้น การดำเนินการใช้สิทธิโดยรัฐของกระทรวงสาธารณสุขต่อยาที่มีสิทธิบัตร จึงเป็นการดำเนินการที่ทั้งถูกกฎหมายและถูกหลักมนุษยธรรม รวมทั้งเป็นการดำเนินการตามหน้าที่ที่จะต้องจัดหายาจำเป็นตามบัญชียาหลักแห่งชาติให้แก่คนไทยทุกคนที่ใช้สิทธิตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย
การยอมจำนนต่อบริษัทยาและต่อสหรัฐฯประเทศจะเสียหายในระยะยาวและต้องเป็นทาสติดยา(ราคาแพง)ไปตลอดกาลมากกว่า การเสียน้อยเสียยากดด้านส่งออกสินค้าบางตัวซึ่งคนส่วนใหญ่ของชาติไม่ถูกกระทบมาก
การรณรงค์ตอบโต้
รัฐบาลไม่ควรบ้าจี้หรือยอมเสียเงินไปจ้างบริษัทล๊อบบี้ยิสท์ให้สูญเงินเปล่า แต่ควรจะรู้จักใช้คนไทยที่รักชาติในต่างประเทศโดยการเรียกร้องให้รวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มกดดันทางการเมือง (Pressure groups) เพราะว่าปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะในอเมริกาเป็นคนไทยรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 ซึ่งถือสัญชาติอเมริกันและมีสิทธิลงคะแนนเสียง ดังนั้นการรวมตัวกันและเข้าหาส.ส. หรือ ส.ว. ประจำรัฐของตนเพื่อขอให้ปกป้องไม่ให้ผู้แทนการค้าซึ่งขึ้นต่อรัฐสภากลั่นแกล้ง วิธีการนี้จะได้ผลกว่าการจ้างล๊อบบี้ยิสท์ และใช้เงินน้อยกว่ามาก เพราะว่า ส.ส. และส.ว. อเมริกันคำนึงถึงเสียงสนับสนุนจากผู้ลงคะแนนเสียงมาก และถ้ารวบรวมเงินบริจาคให้ส.ส. และส.ว. เพื่อใช้หาเสียงบ้างก็จะยิ่งได้ผลดี
รัฐบาลไต้หวันและเกาหลีใต้ล้วนใช้วิธีนี้มาก่อน ทูตไทยและกงสุลไทยน่าจะรู้ดีและเป็นตัวประสานที่ดีได้
นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งตัวแทน หรือ นักวิชาการออกเดินสายนอกประเทศเพื่อประสานกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ หรือ องค์การเอ็นจีโอในประเทศอื่นๆให้สนับสนุน และเปิดโปงถึงความไม่ชอบธรรมของบริษัทยา และรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งคำนึงถึงภาพพจน์ของตน ว่าถ้าหากว่าถูกหลายๆประเทศ หรือ หลายๆองค์กรต่อต้าน ดังนั้นจึงได้ไม่คุ้มเสีย

บทเรียนจากนานาประเทศ
บราซิล
ประเทศบราซิลได้ออกกฎหมายสิทธิบัตรโดยคำนึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ซึ่งต่างจาก พ.ร.บ. สิทธิบัตรของไทยราวฟ้ากับดิน โดยพ.ร.บ. ของไทยมุ่งปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ แต่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของบราซิล (1966) กลับมุ่งปกป้องคนและผลประโยชน์ของชาวบราซิล โดยระบุว่า “ รัฐบาลบราซิลไม่ยอมรับสิทธิบัตรยาของต่างชาติหากว่า บริษัทเหล่านั้นไม่ตั้งโรงงานผลิตยานั้นในประเทศบราซิล หรือ ออกใบอนุญาติให้บริษัทยาของบราซิลผลิตแทน”
“กฎหมายสิทธิบัตรของบราซิล กำหนดให้รัฐบาลมีสิทธิผลิตยาที่มีสิทธิบัตรก่อนกฎหมายบังคับใช้(1966) ได้ทุกตัวยาจากทุกประเทศ” ประเทศไทยควรจะเอาเยี่ยงอย่างโดยการเสนอแก้กฎหมายสิทธิบัตรของไทยให้เหมือนของบราซิล
เกาหลี
ประเทศเกาหลีใต้ซึ่งร่ำรวยกว่าประเทศไทยเห็นความสำคัญของสิทธิเข้าถึงยาของผู้ป่วย ได้แก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของชาติให้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2005 โดยแก้ให้รัฐบาลต้องอนุญาตให้มีการผลิตยาโดยประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” ภายในเวลาไม่เกิน 6 เดือนเพื่อใช้ในประเทศ และสามารถผลิตเพื่อการค้าและการส่งออกอีกด้วย
สวิสเซอร์แลนด์
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก็แก้กฎหมายในทำนองเดียวกับประเทศเกาหลีใต้ เพื่อจะได้เป็นผู้นำในการส่งออกยาให้กับประเทศด้อยพัฒนาที่ประกาศใช้ “สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา” แต่ว่ายังผลิตเองไม่ได้ แต่ต้องนำเข้าจากประเทศอื่นโดยสวิสเซอร์แลนด์ไม่ต้องจ่ายค่าสิทธิบัตร หรือจ่ายน้อยลง
อินเดีย
กฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียอนุญาติให้ผลิตยาที่มีสิทธิบัตรของต่างประเทศได้อย่างถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 1970 (2513) โดยการแปลงหรือถอดสูตรเคมี (Reverse drug engineering) ซึ่งทำให้ประเทศอินเดียกลายเป็นประเทศส่งออกยาที่สำคัญที่ใหญ่และสุดของโลก โดยการส่งออกยาไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนทั่วโลก ในแต่ละปีช่วยชีวิตผู้ป่วยได้หลายร้อยล้านคน และนำรายได้เข้าประเทศมหาศาล
ประเทศไทยก็ควรเอาเยี่ยงอย่างอินเดียเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศเพื่อนำรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้าประเทศ จะได้ไม่ต้องกลัวการตัดจีเอสพีอีกต่อไป เพราะปัจจุบันเราพึ่งแต่สินค้าส่งออกไม่กี่ตัว ทำให้ถูกกลั่นแกล้งได้ง่าย
ยาที่ประเทศไทยพึ่งประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ชื่อ antiretroviral ซึ่งราคา ประมาณ $10000 (350,000 บาท )ในประเทศตะวันตก แต่อินเดียผลิตขายเมื่อปีที่แล้วในราคาเพียง $200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( 7000 บาท ) องค์การหมอไร้พรมแดนก็ซื้อยาจากอินเดียไปช่วยรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ใน 27 ประเทศทั่วโลก
ในเดือนธันวาคม 2004 อินเดียยอมรับที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การค้าโลกอย่างมีเงื่อนไข โดยยอมรับในเรื่องสิทธิบัตรยาเฉพาะที่ยื่นขอจดและผลิตในอินเดียนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นไปเท่านั้น ส่วนยาที่มีสิทธิบัตรก็ต้องเป็นยาที่มีการยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศอื่นในภายหลังปี 1995(2538) เท่านั้น เป็นเรื่องเศร้าที่ประเทศอื่นๆล้วนคำนึงถึงผลประโยชน์และชีวิตของคนในชาติ แต่ประเทศไทยเรามีแต่คนคิดขายชาติขายแผ่นดิน พร้อมที่จะตายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในหมวด 5 เรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 9 มาตรา 85 (๒) ส่งเสริมการประดิษฐ์หรือการค้นคิดสิ่งใหม่ รักษาและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
เรื่องการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศอื่นๆล้วนกำหนดอยู่ใน กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสามารถแก้ไขได้ตามสถานการณ์ความจำเป็นและเงื่อนไขของภาวะเศรษฐกิจและสังคม แต่การมากำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้เป็นเรื่องถาวร แก้ไขไม่ได้ นอกจากฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกรณี การที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา อาจจจะตีความได้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นมาตรา85 (๒) ควรจะต้องตัดออกทันที เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับนีกลายเป็นรัฐธรรมนูญขายชาติ

ไม่มีความคิดเห็น: